ถึงคิว “ขรก.-นักการเมือง” ร่วมถกจัดทำ “แผนความซื่อตรงแห่งชาติ”
เตรียมจัดเวทีระดมสมองรอบ3 ดึงนายกฯ ร่วม 3 ก.ย.นี้ คิวผู้บริหารประเทศ-ปลัดกระทรวง-ผบ.เหล่าทัพ ก่อนนำร่องหาหน่วยงานต้นแบบ “ปธ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จี้คิดใหม่ นักการเมืองมาต้องมาให้ไม่ใช่มาเอา “ธีระ” ชี้ถึงเวลาเรียกคืน “จิตนิยมไทย” เชื่อสิ้นก.ค.ได้เห็น “วาระแห่งชาติว่าด้วยความซื่อสัตย์”
วันนี้ (9 ก.ค.) ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ306-308 อาคารรัฐสภา2 คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระบบการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตในรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ,สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน,กรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรรม และคลังสมองวปอ.เพื่อสังคม จัดเวทีสัมมนา “ระดมความคิดเพื่อการจัดทำแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ” ครั้งที่ 2 เพื่อระดมความคิดเห็นในส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการและนักการเมือง ก่อนนำไปสรุปรวบกับอีก 2 เวทีสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนโครงการสมัชชาคุณธรรม
ช่วงแรกพล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาระบบการเสริมสร้างธรรมาภิบาลและตรวจสอบการทุจริตในรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวว่า ระบบปกครองที่ดีไม่ช่วยพัฒนาชาติได้ หากคนในชาติไม่มีความซื่อสัตย์ ตัวอย่าง เช่น ปี ค.ศ. 2003 มาเลเซียมีแผนความซื่อตรงให้คนทั้งชาติ โดยมีนักวิชาการร่วมกันระดมสมองรวมความเห็นจากประชาชน ทำให้การพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ดังนั้นประเทศไทยต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมอย่างจริงจังให้ทันเพื่อนบ้าน
“ผลสรุปในวันนี้จะถูกนำไปรวมกับครั้งที่แล้วในส่วนอปท. เพื่อจัดครั้งต่อไปในวันที่ 3 ก.ย. ซึ่งจะเชิญผู้บริหารประเทศในระดับสูงและนักการเมืองมาระดมความคิดและรับฟังข้อเสนอ โดยจะมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี 4 คน ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปลัดกระทรวง ผู้แทนจาก 20 กระทรวง ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแหง่ชาติร่วมพูดคุย จากนั้นจะให้ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ นำประเด็นทั้งหมดไปทดลองปฏิบัติในหน่วยงาน” พล.อ.อ.วีรวิท กล่าว
ขณะที่นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจิรตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวว่า คุณธรรม ความซื่อตรง สามารถทำให้ความฝันในการปฏิรูปประเทศไทยเป็นจริงขึ้นได้ เนื่องจากเป็นคุณธรรมพื้นฐานในหลักเรื่องธรรมาภิบาล
จากนั้นเวทีมีการอภิปรายเรื่อง “คุณธรรมความซื่อตรงของเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมือง” โดยนายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า วันนี้สังคมไทยและคนไทยต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องเสียสละมาให้ ไม่ใช่มาเอา เช่นเดียวกัน หลักธรรมาภิบาลไม่ควรพูดแต่ปาก แต่ต้องทำเป็นแบบอย่างที่ให้สามารถแตะต้องได้
"วันนี้ทุกคนสามารถช่วยกันรักษาอาการโรคทางสังคมที่เป็นอยู่ได้ โดยสร้างความซื่อสัตย์สุจริต อดทนในการทำความดี รูปธรรมเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ ถ้าช่วยขายความคิด เปลี่ยนความคิดใหม่ คุณธรรมต้องนำความรู้” ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
ด้านนายธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า วันนี้สังคมไทยล่มสลายสุดๆ ทุกเรื่องทั้งความซื่อสัตย์ คุณธรรม วัฒนธรรมการพึ่งพาตนเอง วัฒนธรรมประชาธิปไตยก็หายไป อีกทั้งเศรษฐกิจถึงทางตัน ขณะนี้ต้องทำให้ภาคสังคมขึ้นมานำภาคการเมืองให้ได้ ต้องแก้โครงสร้างสังคมใหม่เรียกความเป็นจิตนิยมไทยที่มีความเอื้ออารี อาทร มีศีลธรรมกลับมาพร้อมกับปรับค่านิยมความเป็นทุนนิยมที่ไร้คุณธรรม ให้มีคุณธรรมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเชื่อว่าคนไทยสามารถย้อนกลับสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขเช่นในอดีตได้ โดยการช่วยกันตั้งแต่บ้าน วัด โรงเรียน และชุมชน
“ขณะนี้เรากำลังมีการยกร่างวาระแห่งชาติการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย ซึ่งครม.มอบให้ก.พ.ดำเนินการเป็นฝ่ายเลขานุการเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต.ค.ปี 2552 มีเป้าหมายให้คนไทยยึดมั่นในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริต ส่งเสริมการรวมพลังทุกภาคส่วน มี 3 ยุทธศาสตร์ คือ ปลูกจิตสำนึกคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริต,ผนึกกำลังทุกภาคส่วนส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริต และเสริมสร้างความเข้มแข้งให้แก่บุคลากรและองค์กรที่ส่งเสริมเรื่องนี้และป้องกันปราบปรามการทุจริต คาดว่าปลายเดือนนี้จะเข้าสู่ครม.เป็นวาระแห่งชาติได้” อดีตรมว.วัฒนธรรม กล่าว
ส่วนนางชมนาด พงศ์พนรัตน์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า การส่งเสริมความซื่อตรงและการยืนหยัดในความถูกต้องนั้นต้องส่งเสริมให้มีทั้งในตัวบุคคลและตัวระบบองค์กร ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นงานที่ก.พ.ทำให้ข้าราชการ ส่วนเรื่องยกร่างวาระแห่งชาติการส่งเสริมคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและต่อต้านการทุจริตของคนไทย ขณะนี้กำลังดำเนินการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กระทรวงยุติธรรม(ป.ป.ท.)ร่วมกัน ซึ่งมี 3 เรื่องหลักที่จะดำเนินการ คือ เรื่องการสร้างการจัดซื้อจัดจ้างที่สุจริต โดยขณะนี้มีสมาคมสถาปนานิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์และหอการค้าไทยร่วมด้วย โดยจะวางแผนใน 3 เดือนนี้จะแก้ไขสร้างอะไรได้บ้าง
“เรื่องที่2 คือสร้างการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต โดยพยายามให้หลายหน่วยงานมาบูรณาการกันทั้งแผนงาน งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล เรื่องที่ 3 การแต่งตั้งโดยโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อแก้ปัญหาการซื้อขายตำแหน่ง แผนงานระยะแรกจะมุ่งความโปร่งใสของข้อมูล โดยจะดึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ฯลฯ เข้าร่วม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเร่งสรุปให้ทันปลายในปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนส.ค.”
พล.อ.จรัล กุลละวณิชย์ ประธานมูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม กล่าวถึงเรื่องคุณธรรมความซื่อตรง ต้องสอนและปลูกฝังฝึกฝนเริ่มตั้งแต่ครอบครัว จากที่บ้าน วัด โรงเรียน สู่ชุมชนเข้มแข็ง ตบมือข้างเดียวไม่ได้ และไม่ควรโทษนักการเมืองฝ่ายเดียว ที่ผ่านมาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่แค่ในกระดาษ มีค่านิยมผิดที่มุ่งความมั่งคั่ง นิยมอำนาจ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิบัติจริงได้ ต้องเริ่มต้นที่ตนเองจากครอบครัว เช่น เรียกค่านิยมยกย่องชื่นชมคนทำดีให้กลับคืนมา , กระตุ้นให้ผู้บังคับบัญชาสามารถกำกับควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้อยู่ในความซื่อตรงได้ สร้างบทลงโทษที่เด็ดขาดได้ เป็นต้น
สุดท้ายนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา และอดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ในแผนฯ นี้ ควรสร้างความชัดเจนว่า ความซื่อตรงคือเรื่องของการไม่โกงกิน ให้ยึดหลักความดี ความสามารถ ความเป็นสุขที่ต้องทำคู่กัน พร้อมเสนอ 6 แนวทางในการสร้างความซื่อตรงแห่งชาติ คือ 1.สร้างเครือข่ายส่งเสริมความซื่อตรง เช่น ให้ ก.พ. ก.พ.ร. สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน องค์กรธุรกิจรวมกันสร้างความซื่อตรงในหน่วยงาน ในเครือข่าย โดยไม่ต้องสั่งการหน่วยงานอื่น ให้เริ่มต้นเพื่อเป็นแบบการเรียนรู้ก่อน มีมาตรการ ตัวชี้วัดที่ชัดเจน 2.สร้างการวิจัยและจัดการความรู้ 3.ส่งเสริมการสื่อสาร 4.สร้างนโยบายที่เหมาะสมทั้งระดับรัฐบาล นักการเมือง เป็นต้น โดยเฉพาะระดับอบต.และเทศบาล 5.สร้างคุณภาพการจัดการ มีกระบวนการและสำนักงานจัดการประสาน กระตุ้นความซื่อตรง และ6.เรียนรู้จากผลปฏิบัติและพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ช่วงบ่ายมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของผู้ร่วมสัมมนาแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย ในแต่ละกลุ่มมีผู้แทนส่วนราชการ สมาชิกรัฐสภา และองค์กรอิสระ ร่วมระดมความคิดเห็นต่อการพัฒนาจัดทำแผนความซื่อตรงแห่งชาติ