“ปชช.-เอกชน-รัฐ” องค์กรพหุภาคีขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย
ชาติไม่ติดหล่ม สังคมไม่ติดลบ"ไพบูลย์" แนะปฏิรูปประเทศต้องพลิกทำงานแบบพหุภาคี เสนอจัดทัพทุกจังหวัดร่วมปฏิรูป จี้เอกชนเปลี่ยนวิธีคิด-ทำธุรกิจมุ่งกำไรหนุนกิจการเพื่อสังคม ขณะที่ "นายกฯ อภิสิทธิ์" ชี้ถึงเวลากลับโจทย์เอกชนต้องร่วมปฏิรูป-รับใช้สังคม
วันนี้ (7 ก.ค.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ในเครือบริษัท เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ปจำกัด (มหาชน), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และเชนจ์ฟิวชั่น ร่วมจัดเวทีความร่วมมือ “ธุรกิจเพื่อสังคมพลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย” ณ โรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เพื่อระดมความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้วยพลังภาคธุรกิจเอกชน ทั้งนี้มีสมาคมธนาคารไทย, หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ซีเอสอาร์คลับ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมเสนอแนวทาง
นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาหัวข้อ “ธุรกิจเพื่อสังคม : ประเทศชาติไม่ติดหล่ม สังคมไม่ติดลบ” ว่า การปฏิรูปประเทศเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ต้องทำ โดยต้องอาศัยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ ภาคประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศกลุ่มใหญ่ที่สุด, ภาคธุรกิจเอกชน เกี่ยวโยงกันคนทั้งประเทศ ไม่ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ กลางหรือขนาดเล็กทั่วประเทศต้องร่วมกัน และภาครัฐ
“สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายจะต้องเริ่มปฏิรูปที่ตนเองก่อนว่าจะเริ่มปฏิรูปอะไรได้บ้าง ประชาชนก็ต้องคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนความคิดและการกระทำ ภาครัฐก็ต้องทบทวนตนเอง จากนั้นการปฏิรูปประเทศก็กระจายไปตามพื้นที่ในทุกจังหวัด และควรยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งในการปฏิรูป”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งสามฝ่ายควรร่วมกันเป็นองค์กรพหุภาคีขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย โดยยึดหลักคิด 1.ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งในการทำงานปฏิรูป 2.ต้องให้ประชาชนเจ้าของพื้นที่เป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ตัดสินใจเอง โดยหน่วยงานองค์กรต่างๆ ภาคธุรกิจควรเข้าไปสนับสนุนการขับเคลื่อนนั้น 3.ทุกฝ่ายต้องประสานความร่วมมือเป็นความสัมพันธ์ในแนวราบ เปลี่ยนการทำงานจากทวิภาคีสู่พหุภาคี
ส่วนบทบาทในการปฏิรูปประเทศของภาคเอกชนนั้น อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ภาคธุรกิจเอกชนต้องปฏิรูปตนเองทั้งวิธีคิดและวิธีทำ เปลี่ยนเป็นการทำธุรกิจเพื่อสังคมจากเดิมที่มุ่งทำเพื่อผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น ควรคิดยึดหลักมองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูงส่งในการทำธุรกิจ ต้องมองผลเชิงระบบให้เห็นภาพรวมทั้งหมด มองพลวัตการทำธุรกิจทั้งองค์กร ชุมชน สู่สังคมประเทศชาติจนถึงสังคมโลก โดยคิดเชิงบวก เชิงรุก และเชิงสร้างสรรค์และสรรค์สร้างด้วย แม้เป็นเรื่องไม่ง่ายแต่เชื่อว่าภาคธุรกิจสามารถทำได้
“การทำธุรกิจเพื่อสังคมของเอกชนต้องไม่ใช่แค่พูด หากต้องลงมือทำด้วย 4 วิธีคือ ต้องเป็นธุรกิจที่มีคุณภาพ สร้างผลผลิตคุณภาพต่อสังคม, เป็นธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล มีความถูกต้องชอบธรรม, เป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และต้องเป็นธุรกิจที่มีกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise)”
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในสามของภาคส่วนที่สำคัญในสังคม มีพลังสูงทั้งด้านสติปัญญา ความคิด ทรัพยากร การเงิน สามารถมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือรวมพลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยไปสู่สังคมที่น่าอยู่ ดีงาม มีความสามารถและสันติสุขได้
นายกชี้ถึงเวลากลับโจทย์ ดึงเอกชนร่วมปฏิรูป
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถา หัวข้อ“ภาคธุรกิจ: พลังหลักขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย” ถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ท้องถิ่น ภาควิชาการ จำเป็นมากที่สุดสำหรับการปฏิรูปครั้งนี้ กระบวนการนี้จะสำเร็จได้ต้องดึงทุกคนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากไม่มีใครสามารถเรียกร้องการเมืองที่นิ่ง หรือสังคมที่สงบจากคนอื่นได้ นอกเหนือจากทุกคนต้องร่วมสร้าง ทั้งนี้ได้ตั้งคำถามถึงภาคธุรกิจได้ทำเพื่อสังคมมากน้อยแค่ไหน ปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การเสียภาษีอากร มีกี่เปอร์เซนต์ที่ได้ทำตรงนี้ครบถ้วน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงบทบาทการปฏิรูปของภาคธุรกิจเอกชนว่า ทุกคนต้องช่วยกันตอบโจทย์ของประเทศ อย่างน้อยที่สุดต้องมีการปรับให้ภาคธุรกิจจะต้องมีการทำธุรกิจเพื่อสังคมให้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ นี่คือสิ่งที่สังคมพึงเรียกร้อง โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นปัญหาสำคัญที่กัดกร่อนระบบการเมือง และเป็นตัวที่สร้างความขัดแย้งในสังคมถือว่า ภาคการเมืองเป็นจำเลยที่ 1 ยังมีจำเลยที่ 2 และ 3 ซึ่งภาคธุรกิจพยายามเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ในต่างประเทศเวลานี้ได้มีการเรียกร้องว่าภาคเอกชนจะต้องจัดการกันเอง ดังนั้น ภาคเอกชนก็ควรตกลงกันเองว่าการจะทำธุรกิจอย่างไรไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือฮั๊วกัน จะทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่บนการแข่งขันที่ทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมน้อยลง
“การทำให้ทุกคนสามารถแข่งขันกันบนพื้นฐานที่ดี ผลกระทบทางสังคมในทางลบคงมีไม่มาก แต่ผลตอบแทนที่จะกลับคืนสู่สังคมจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่แข่งขันกันด้วยวิธีนี้ มีการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ปฏิบัติตามกติกา ผลกระทบทางสังคมก็จะเป็นไปในทางลบ และจะเกิดการเรียกร้องให้มีการคืนกำไรสู่สังคม ซึ่งจะไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้”