ปฏิบัติการ ระดมผู้นำท้องถิ่น ร่วม "กลับรูป" ประเทศไทย
สสส. จับมือกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีระดมความคิดเห็น อปท.-อบต.- อบจ. เพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย นายกฯ อภิสิทธิ์ เดินทางมารับฟังข้อเสนอ ยืนยันหนักแน่นรัฐบาลจะผลักดันการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น งบฯ จัดสรรให้ไม่น้อยกว่าเดิม
วันนี้ (5 ก.ค.) เวลา 9.00 น. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย จัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีตัวแทนจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกว่า 200 คน ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ ชั้น 2 อาคารคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ปฏิบัติการของชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ตอนหนึ่งถึงผู้นำท้องถิ่น ถือเป็นคนที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปประเทศไทย เพราะชุมชนท้องถิ่น เป็นกุญแจสำคัญ คือ ชาติที่แท้จริง ดูแลพื้นที่ ทรัพยากร เศรษฐกิจ ทั้งหมดของประเทศไทย
“ ผู้นำท้องถิ่น คือ ผู้แก้วิกฤตชาติ ต้องร่วมสร้างรูปประเทศไทยใหม่ เอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ดูแลครอบคลุมทั้ง เศรษฐกิจ การศึกษา การสื่อสาร การเมือง การปกครอง และต้องมีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปกครองตนเอง ใช้อำนาจลงไปข้างล่าง เปลี่ยนบทบาทให้ส่วนกลางเป็นเพียงผู้สนับสนุนทั้งหมด สร้างความเชื่อของความเป็นมนุษย์ว่า ชุมชนสามารถดูแลชุมชนได้ ไม่ควรใช้อำนาจลงไปแบบเดิมอีก”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า การปฏิรูปประเทศไทยนั้น คำว่าปฏิ แปลว่า กลับ ปฏิรูป แปลว่ากลับรูป ปฏิรูปประเทศไทยก็คือ กลับรูปประเทศไทย กลับเอาหัวลง ตั้งฐานประเทศไทย หากฐานใหญ่ประเทศไทยจะไม่ล้มง่ายๆ การตั้งฐานประเทศไทยเอาฐานลง ประเทศไทยจะมั่นคง เป็นใจความที่สำคัญที่สุดของการปฏิรูป
"การกลับรูปประเทศไทยเสียใหม่ เริ่มที่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานของประเทศ หากชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งมั่นคง ประเทศจะมั่นคง ที่แล้วมาเราไปพัฒนาข้างบน เศรษฐกิจข้างบน ทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวยห่างขึ้น เกิดปัญหาขาดความเป็นธรรม เหลื่อมล้ำ ดังนั้นต้องเปลี่ยนมาที่ท้องถิ่น"
ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเวศ เสนอให้ อปท. ทั้ง 8,753 รวมตัวกันปฏิรูปประเทศให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ประกาศเรื่องการขจัดความยากจน สร้างสังคมศานติสุข ภายใน 10 ปี และมีจุดยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งมีข้อเสนอเชิงนโยบาย 1 .ขอให้แก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการกระจายอำนาจของการกระจายอำนาจไปสู้ชุมชนท้องถิ่น 2 .ปรับบทบาทของกระทรวงมหาดไทยจากการใช้อำนาจมาเป็นผู้สนับสนุน ปรับบทบาทผู้ว่าจากผู้บริหารมาเป็นผู้กำกับ 3 .ให้ชุมชนมีสิทธิในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน 4 .ให้ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตนเอง 5 .ไม่ให้เศรษฐกิจมหภาคทำลายความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น 6 .ให้มีอย่างน้อยมหาวิทยาลัยหนึ่งแห่งส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นในหนึ่งจังหวัด 7 .เสนอให้นายกรัฐมนตรีตั้งองค์กรอิสระเพื่อพัฒนาระบบการปกครองตนเองของชุมชนท้องถิ่นเป็นองค์กรอิสระ เป็นสำนักงานเพื่อพัฒนาระบบการปกครองตนเอง
จากนั้น เวลา 11.00 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางมารับฟังข้อเสนอ ในการอภิปรายระดมความคิดเห็น มีนายสมพร ใช้บางยาง รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน , นายชาตรี อยู่ประเสริฐ เลขาธิการสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด , นายทนงศักดิ์ ทวีทอง ประธานสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ , นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมรับฟังและรวบรวมข้อเสนอ ส่งถึงนายกรัฐมนตรี
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงผู้นำท้องถิ่น กับการลดความแตกแยก ว่า วันนี้ไม่ควรมีการวิพากษ์วิจารณ์ ใครใส่เสื้อสีอะไร รวมทั้งรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีควรเชิญตัวแทนของ อปท. อบต, อบจ. และเทศบาลที่ใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแท้จริง มาร่วมพูดคุย อีกทั้งควรสร้างกลไกให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติมีเหตุผล เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงข้อมูล
ขณะที่ นายสมหวัง ใยวังหน้า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านโพน จ.สกลนคร กล่าวว่า ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างการยอมรับของทุกฝ่าย โดยเน้นที่ประเด็นทำให้ท้องถิ่นน่าอยู่ รวบรวมประเด็นใหญ่ๆ ทำประชาพิจารณ์ทั้งประเทศให้พี่น้องประชาชนยอมรับ ส่วนเรื่องการกระจายอำนาจท้องถิ่นเพื่อให้การแก้ไขความขัดแย้ง ต้องเร่งรัดการดำเนินการตาม พ.ร.บ. การกระจายอำนาจให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปรับปรุงกฎระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามหลักการและเหตุผล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไม่มีความจริงใจในการถ่ายโอนอำนาจ อบต.กำลังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล
ส่วนนายสุชาติ เพ็ชรประเสริฐ นายกเทศมนตรีเมืองตาก กล่าวถึงเรื่องการศึกษาว่า อยากให้รัฐมีแนวทางที่ชัดเจนในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กยังไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งต้องมีการสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจน และอีกหลายเรื่องที่ไม่สามารถทำได้ เช่น ครู ไม่สามารถบรรจุได้ เป็นต้น
ด้านนางสุเนตร ศิลปชัยเดช นายกเทศมนตรีเมืองบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา กล่าวถึงความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำและช่องว่าง และความรู้สึกว่า ตัวเองเสียงไม่ดังฟังไม่ชัด การแก้ปัญหาต้องแก้วงจรอุบาทว์คือ ความโง่ ความจน และความเจ็บ โดยเฉพาะเรื่องความโง่นั้นอยากให้รัฐบาลจัดการปฏิรูปการศึกษา แม้รัฐบาลจะดูแลให้เรียนฟรี แต่พ่อแม่ไม่มีเงินให้ลูกมาเรียน ความจนและเจ็บ ต้องดูแลแก้ปัญหาความยากจนและสาธารณสุข
สำหรับผลการสรุปจากการระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางปฏิรูปประเทศไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.บทบาทของท้องถิ่นต่อการเยียวยาคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การสร้างความปรองดองของคนในท้องถิ่น และการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย 2.ข้อเสนอต่อรัฐบาลในการสนับสนุนการแก้วิกฤตทางสังคมโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
หลังจากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐบาลมีเรื่องดำเนินการ 2 เรื่อง คือ 1.กฎหมายท้องถิ่น และ 2. การถอดงบประมาณส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมในการขับเคลื่อนกลไกลงสู่ท้องถิ่นในการปกครองตนเอง ขณะเดียวกันสิ่งที่ท้องถิ่นต้องทำ คือ การเชื่อมโยง เศรษฐกิจพอเพียง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบสวัสดิการชุมชน จัดการเรื่องหนี้สิน โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน ภาษีที่ดิน ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากท้องถิ่น ให้เป็นผู้ชี้ขาดในการช่วยกู้วิกฤต ประชาชนต้องใกล้ชิด จะช่วยให้เกิดปราศจากคอรัปชั่น และลดการแตกแยกที่ไม่สร้างสรรค์
“รัฐบาลได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นอยู่ ทั้งการเร่งรัดแก้ไขกฎหมายท้องถิ่น และเรื่องงบประมาณที่เป็นเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้วางแนวทางไว้แล้วว่า ในงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2555 จะนำงบผู้สูงอายุ อสม. กลับมาอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด และจะต้องจัดสรรในสัดส่วนของท้องถิ่นไม่น้อยกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มงบประมาณด้านอื่น ๆ ให้กับอปท. ได้ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องกฎหมายภาษีที่ดิน ซึ่งจะช่วยให้ท้องถิ่นมีหลักประกันในเรื่องของรายได้ดียิ่งขึ้น”