เปิดชื่อคณะกก.จัดทำโรดแมปปฏิรูปงานตำรวจ
เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการประชุม สัมมนาเวทีสาธารณะ การพบปะเสวนา เพื่อนำความคิดเห็นมาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ และให้รายงานตรงนายกฯ ถึงความคืบหน้า ทุก ๓๐ วัน
วันนี้ (๑ ก.ค.) เว็บไซต์ของรัฐบาล http://www.thaigov.go.th เผยแพร่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๖๕/๒๕๕๓ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจ
ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๐/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงาน (road map) ปฏิรูประบบงานตำรวจ และกำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และเพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำแนวทาง ข้อเสนอแนะในการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้าง ระบบงานตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมต่อสังคม
ต่อมาคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว จนมีการเสนอร่างพระราช บัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ พ.ศ. .... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ทำหน้าที่สภาผู้แทนราษฎร) แล้ว แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดหน้าที่ไปก่อน การปฏิรูประบบงานตำรวจจึงยังมิได้เกิดขึ้น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง การบริหาร ประสิทธิภาพ ความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ความน่าเชื่อถือ และการให้ความเป็นธรรมแก่สังคมอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๑) (๖) และ (๙) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๒๓๐/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจขึ้น โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑. องค์ประกอบ
๑.๑ พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร ประธานกรรมการ
๑.๒ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
๑.๓ พลตำรวจเอก ไกรสุข สินศุข กรรมการ
๑.๔ ศาสตราจารย์จรัส สุวรรณมาลา กรรมการ
๑.๕ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กรรมการ
๑.๖ นายถาวร พานิชพันธ์ กรรมการ
๑.๗ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทวี สุรฤทธิ์กุล กรรมการ
๑.๘ พลตำรวจโท ธนู ชัยนุกูลศิลา กรรมการ
๑.๙ พลตำรวจโท เอก อังสนานนท์ กรรมการ
๑.๑๐ พันตำรวจโท พงษ์ธร ธัญญศิริ กรรมการ
๑.๑๑ นางเรืองรวี พิชัยกุล กรรมการ
๑.๑๒ รองศาสตราจารย์วิรัตน์ วงศ์แสงนาค กรรมการ
๑.๑๓ ศาสตราจารย์ศุภชัย ยาวะประภาษ กรรมการ
๑.๑๔ รองศาสตราจารย์สุจิตรา บุณยรัตพันธุ์ กรรมการ
๑.๑๕ ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการ
๑.๑๖ นายสมบัติ วัฒน์พานิช กรรมการ
๑.๑๗ พันตำรวจเอก (หญิง) สมลักษณา ไชยเสริฐ กรรมการและเลขานุการ
๑.๑๘ พันตำรวจโท นฤมิตร สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขานุการ
๑.๑๙ พันตำรวจโท ภัทรพล สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยเลขานุการ
๑.๒๐ ร้อยตำรวจโท นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร ผู้ช่วยเลขานุการ
๒. อำนาจหน้าที่
ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๒.๑ นำแผนการดำเนินปฏิรูประบบงานตำรวจ (road map) ของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ มาศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และพิจารณาแก้ไขปรับปรุงแผนการนั้น ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน และเพื่อเสนอให้ออกเป็นกฎหมายได้ในที่สุด
๒.๒ เสนอแนะมาตรการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้าง ระบบงานตำรวจ และการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้
๒.๓ เสนอแนะการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย ข้อบังคับ กฎ หรือระเบียบ ที่ล้าสมัยหรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงสร้างหรือระบบงานตำรวจ และร่างกฎหมาย ข้อบังคับ กฎ หรือระเบียบขึ้นแทน เพื่ออำนวยให้เกิดการพัฒนา
๒.๔ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
๒.๕ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยการประชุม สัมมนาเวทีสาธารณะ การพบปะเสวนา หรือโดยทางอื่น เพื่อนำความคิดเห็นนั้นมาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ
๒.๖ เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ขอเอกสาร ข้อมูล หรือความเห็นจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ในกรณีนี้หากมีข้อขัดข้อง ให้เสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ
๒.๗ แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยเหลือคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร
๒.๘ ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
๒.๙ รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะกรรมการ ทุก ๓๐ วัน
๓. แนวทางการดำเนินงาน
๓.๑ เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการเป็นไปอย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพ จึงให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สำนักงานของคณะกรรมการ โดยให้จัดสถานที่และบุคลากรสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ ตามความจำเป็นและเหมาะสม
๓.๒ ให้กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานซึ่งได้รับแต่งตั้งที่ไม่ใช่ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าพาหนะเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น โดยอนุโลมตามระเบียบของทางราชการ หรือตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง ทั้งนี้ ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
๓.๓ ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งเพื่อการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย การประชุม สัมมนา การจัดเวทีสาธารณะ และรายการ อื่น ๆ ที่จำเป็นแก่การปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
๓.๔ การเบิกจ่ายเบี้ยประชุม ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. ๒๕๔๗ และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามอำนาจหน้าที่ ให้เบิกจ่ายจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๓
(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)
นายกรัฐมนตรี