นายกฯ ลงนามตั้งคกก.ปฏิรูปตำรวจ ให้ “วสิษฐ” นั่งประธาน
นายกรัฐมนตรีเผยได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจแล้ว มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธาน เตรียมรื้อฟื้น กต.ตร. ตั้งเป้าตำรวจจะทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น
วันนี้ (30 มิ.ย.) เวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจเรียบร้อยแล้ว โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานคณะกรรมการฯ โดยกรรมการทั้งหมดเป็นชื่อที่พล.ต.อ.วสิษฐเสนอเข้ามาทั้งหมด องค์ประกอบส่วนใหญ่จะคล้ายกับคณะกรรมการที่มาสอบเรื่องการโยกย้ายตำรวจที่ผ่านมา
ส่วนกรอบและระยะเวลาการทำงานนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้พล.ต.วสิษฐเป็นคนจัดลำดับความสำคัญ เพราะพล.ต.อ.วสิษฐ บอกว่าเรื่องที่มองไปถึงการแก้ไขกฎหมายคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และจะไม่เน้นในลักษณะที่จะไปกระทบกระเทือนกับตัวองค์กรมากเกินไป แม้กระทั่งกฎหมายที่ใช้อยู่ยังปรับเข้าโครงสร้างทั้งหมดไม่เรียบร้อย
"ถ้าเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไปก็จะเป็นปัญหากับองค์กร แต่จะมีบางเรื่องที่จะเน้นหรือเปลี่ยนจุดมาให้ความสำคัญมากขึ้นได้ อย่างเช่น คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของตำรวจ (กต.ตร.) ที่ผมได้ให้นโยบายกับทางพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่จะมากระตุ้นตรงนี้ เพราะถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะมาช่วยทำงานและช่วยตำรวจในการตรวจสอบด้วย”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีตำรวจที่ยังไม่ได้ทำงานอย่างแท้จริงจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องอาศัยอีกหลายมาตรการประกอบกันในการที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนมั่นใจแค่ไหนกับการทำงานของ กต.ตร. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า น่าจะได้รื้อฟื้นให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ เข้าใจว่าจะมีโครงการเชิญ กต.ตร.ทั่วประเทศมาประชุมสัมมนา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการโยกย้ายแต่งตั้งตำรวจรอบที่ผ่านมาว่า พล.ต.อ.วสิษฐตั้งใจที่จะเสนอเพื่อจะให้ทางคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (กตช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และผู้ที่มีอำนาจที่เกี่ยวข้องมองเห็นว่า มีปัญหาหรือไม่อย่างไรเพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีนี้
เมื่อถามถึงการหวังผลต่อการปฏิรูปตำรวจครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้องยอมรับ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง และมีหลายเรื่องทั้งเรื่องภาพลักษณ์ ขวัญกำลังใจ ปัญหาความสัมพันธ์กับการเมืองและเรื่องอื่นๆ คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการที่มาช่วยให้แนวคิดปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยมีเป้าหมายว่าตำรวจจะทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้น