ครม.ไฟเขียวเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการปฏิรูป
ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดตั้งสำนักงานปฏิรูป งบฯ ปีละ 200 ล้าน ใช้เวลาทำงานต่อเนื่อง 3 ปี มอบหมายให้มูลนิธิพัฒนาไทเป็นแกนกลางจัดเวทีสาธารณะในระดับต่าง เริ่มดำเนินการกลางพ.ค.-ก.ย.53
วันนี้ (29 มิ.ย.) คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการตามที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. ....
2. ให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดตั้งสำนักงานปฏิรูป สำหรับทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเลขานุการตามระเบียบข้อ 1
3. สำหรับการดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูป ปีละประมาณ 200 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายผ่านสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเท็จจริง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอว่า
1. สืบเนื่องจากวิกฤตของสังคมไทยในปัจจุบัน อันมีรากฐานมาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มเข้ามาช่วยกันแก้ไขให้กับบ้านเมืองโดยการเสนอกระบวนการปรองดองขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบสำคัญหนึ่งในองค์ประกอบคือ การปฏิรูปประเทศที่ให้มีการดึงเอาทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามาดำเนินการในการที่จะแก้ไขปัญหา โดยมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องสวัสดิการ ทั้งในเรื่องโอกาส และมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะสามารถยกระดับรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่สามารถประเมินผลได้ และเป็นเรื่องที่จะต้องให้ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นใคร ในยุคใดต้องเข้ามาดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างชัดเจน
2. คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (11 พฤษภาคม 2553) เห็นชอบให้มูลนิธิพัฒนาไทเป็นแกนกลางในการจัดให้มีเวทีสาธารณะในระดับต่าง ๆ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกอบทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2553
ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 ได้มีการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย โดยมีข้อเสนอที่สำคัญคือ เสนอให้รัฐจัดให้มีกลไกที่เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างจริงจัง โดยรัฐบาลทำหน้าที่สนับสนุน รวมทั้งเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาช่วยคิด ช่วยดูแลการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย
3. ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมได้รับทราบกระบวนการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมระดมความคิดแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นแกนปรึกษาหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศไทยเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน ใช้เวลาทำงานต่อเนื่องประมาณ 3 ปี
4. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้ปรึกษาหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องและยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ. .... ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยใช้แนวทางของการจัดตั้งสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2543
ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม. นายอภิสิทธิ์ แถลงว่า ครม.เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยจะมีคณะกรรมการปฏิรูป 1 ชุดและคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป 1 คณะ ซึ่งตนจะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งประธานทั้ง 2 คณะ โดยนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูป และนพ.ประเวศ วะสี จะเป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ซึ่งประธานทั้ง 2 คนจะเป็นผู้ไปตั้งคณะกรรมการเอง โดยมีสำนักงาน ซึ่งจะตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานภายในของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ มีกรอบการทำงาน 3 ปีโดยมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางพอสมควร ตามเจตนาที่ได้เคยประกาศเอาไว้ว่าเป็นส่วนสำคัญของแผนเรื่องการปรองดอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการจะดำเนินการโดยปราศจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าดูจากโครงสร้างและระเบียบที่ออกไปนั้นจะเห็นได้ชัดมากว่าการเมืองคงไม่เข้าไปแทรกแซงอย่างแน่นอน คณะกรรมการฯ มีความเป็นอิสระมากพอสมควรในการทำงานในแต่ละส่วน ซึ่งในรายละเอียดหลังจากนี้จะเป็นเรื่องของประธานคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดจะเป็นผู้ชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่มาร่วมเป็นคณะกรรมการเป็นห่วงว่ารัฐจะไม่นำสิ่งที่คณะกรรมการได้ดำเนินการมาทำอย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำตอบเรื่องนี้อยู่ที่การกระทำ แต่ที่ผ่านมาเรามีการทำงานกับภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ หลายครั้งแล้วในรัฐบาลชุดนี้ แม้กระทั่งการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง จะเห็นได้ว่าในทุกกรณีได้มีการดำเนินการจนพูดได้ว่ามีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แม้กระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ตนก็ไปร่วมประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เรื่องมาบตาพุด ก็เป็นบรรยากาศที่ดี แม้ข้อเสนอบางเรื่องยังไม่ผ่านขั้นตอนทั้งหมด แต่ตลอดระยะเวลาการทำงานที่ผ่านมา คนที่เคยกังวลว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมีข้อยุติอย่างไรแล้วรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐจะดำเนินการหรือไม่ ก็ชัดเจนแล้วว่าได้พยายามผลักดันตามอำนาจหน้าที่
เมื่อถามว่า การปฏิรูปประเทศอาจจะไปกระทบฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มทุนทางการเมือง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตัวอย่างที่ตนยกมาทั้งหมดนี้แม้จะมีอะไรกระทบก็ตรงไปตรงมา ยืนยันได้ว่ารัฐบาลนี้สนับสนุนการทำงานเต็มที่