ชงระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งคณะกก.ปฏิรูปประเทศอังคารนี้
ขีดเส้นการทำงานไม่ให้ยืดเยื้อ อายุ 3 ปี สัปดาห์หน้าเปิดคู่สายบริจาคความคิด ด้านหอการค้ายินดีร่วมสะสางปัญหาฮั้วคอรัปชั่นนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ส่วนปฏิรูปสื่อนายกฯ ชี้เคลียร์ชัดไม่แทรกแซง
วันนี้(27 มิ.ย.53) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่า แผนปฎิรูปประเทศมีความคืบหน้าไปพอสมควรในทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อังคารที่ 29 มิ.ย.นี้จะพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรองรับการตั้งคณะกรรมการ ปฏิรูป (ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน) และ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน) ซึ่งหลักการคือจะมาดำเนินการเรื่องการรับฟังความคิดเห็น และประธานจะเป็นผู้ไปแต่งตั้งณะกรรมการเอง เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระ ไม่มีการแทรกแซงครอบงำจากรัฐบาล แต่รัฐบาลจะสนับสนุนเรื่องงบประมาณและบุคลากร และการเชื่อมโยงกับกลไกอื่นๆของรัฐบาลที่จะทำงานควบคู่กันไป
“คณะกรรมการทั้งสองชุดจะมีอายุเพียง 3 ปี แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องเกินอายุรัฐบาลนี้ครับ แต่ว่าก็มีการขีดเส้นเอาไว้ว่าไม่ให้การทำงานล่าช้ายืดเยื้อ หมายความว่างานเชิงโครงสร้างทั้งหมดต้องมีข้อสรุปเพื่อที่จะดำเนินการได้ใน ระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 3 ปีนั่นเอง ตรงนี้ก็เป็นความคืบหน้าที่สำคัญ”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อปลายสัปดาห์มีการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ซึ่งตนนำประเด็นการมีส่วนร่วมผลักดันแผนปรองดองและปฏิรูปเข้าไปหารือ น่าดีใจว่าได้ 4 แนวทางที่ภาคธุรกิจอยากเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนแรก-จะใช้เครือข่ายหอการค้าทั่วประเทศมาช่วยลดช่องว่างทางความคิดหรือ ความแตกแยกต่างๆ สอง-เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จะก็ช่วยคิดว่าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโต ทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม สาม-หอการค้าจะช่วยสนับสนุนแผนเฉพาะหน้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเน้นการใช้สินค้าไทย ท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี
“ส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องน่าสนใจ คือทางภาคธุรกิจเสนอตัวเข้ามาช่วยชำระสะสางปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ผมก็พูดคุยยอมรับกันตรงไปตรงมาว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นคงจะโทษ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ มีทั้งส่วนของการเมือง ราชการ และส่วนของนักธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จะเป็นอีกส่วนสำคัญของปฏิรูปที่ทางภาคธุรกิจเอกชนเขาได้อาสาตัวที่จะเข้ามาทำ”
ด้านการปฏิรูปสื่อ ที่กังวลว่ารัฐบาลจะเข้าไปชี้นำแทรกแซงนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คณบดีคณะเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มออกไปพบปะกับองค์กรวิชาชีพต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจว่าเป้าหมายที่แท้จริงต้องการให้สื่อเป็นผู้ขับเคลื่อน หลักในการปฏิรูปสื่อ สำหรับการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ในส่วนของรัฐบาลนั้นสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น โดยมีอาสาสมัครมาช่วยงานที่สำนักงานปฏิรูปประเทศ(หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ) มีการ “รับบริจาคความคิดเห็น” โดยเปิดคู่สายโทรศัพท์จำนวนมากรองรับ ส่วนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ(คอ ป.) นั้นนายคณิต ณ นคร ซึ่งเป็นประธานได้ขอขยายเวลาในการแต่งตั้งคณะกรรมการอีก 15 วัน
สำหรับปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ต้องเลื่อนการทำนาออกไปประมาณกลางเดือนกรกฎาคม และในช่วงเดือนครึ่งนี้เกษตรกรประสบปัญหาขาดรายได้ ครม.มีมติช่วยเหลือโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสำรวจครัวเรือนที่เดือดร้อน ให้เลื่อนระยะเวลาชำระหนี้ ธ.ก.ส.ออกไป 1 เดือน และงดดอกเบี้ย 1 เดือนครึ่ง โดยคิดจากมูลหนี้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคร้วเรือน ซึ่งเป็นข้อยุติถึงมาตรการช่วยเหลือที่ตรงที่สุด ส่วนปัญหาหนี้นอกระบบมีประชาชนมาขึ้นทะเบียนกว่า 1 ล้านรายเกินที่ตั้งเป้าไว้ ขณะนี้ 2 แสนรายมีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารแล้ว ซึ่งจะเพิ่มเป็น 3-4 แสนรายในเดือนหน้า
“ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 2 กลุ่มใหญ่ คือมีปัญหาการหาบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันการเปลี่ยนหนี้เข้าสู่ระบบ มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่าจะหาองค์กรหรือสถาบันใดในภาครัฐมาช่วย เพื่อเป็นหลักประกันหรือความมั่นใจกับธนาคารที่ปล่อยกู้ ขอเวลาประมาณ 1 เดือน” นายกรัฐมนตรี กล่าว