"สาทิตย์" ขานรับแก้ไขปัญหาที่ทำกิน พร้อมตั้งสนง.โฉนดชุมชน 5 ก.ค. นี้
สถาบันการเรียนรู้ฯ ประมวลผลระดมความเห็น 15 ข้อเสนอเวทีประชาชน จี้รัฐเร่งแก้ไขเร่งด่วน ฝ่ายรัฐบาล ระบุชัด อีก 3 สัปดาห์ โฉนด-ธนาคาร-มาตรการเก็บภาษี เคลื่อนแน่ แจง 3 เดือนติดตามประเมินผล
วันนี้ (25 มิ.ย.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดงานเวทีเสวนาประชาชน เรื่อง การจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน : ปัญหาและทางออก เป็นวันที่ 2 โดยบรรยากาศของงานเป็นการร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อสรุปข้อเสนอที่เป็นทางออก ก่อนนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ปัญหาที่ร้องเรียนในรัฐบาล จากเครือข่ายปฏิรูปสังคมการเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินและเครือข่ายอื่นๆ ที่ร้องเรียนมา ตนเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายราชการและประชาชนจะไม่ต้องยืนต่างมุม แต่จะยืนอยู่ร่วมกันได้ เพียงทุกส่วนนั่งถกเถียงร่วมกัน จะเป็นภาพที่แก้ไขปัญหาของประเทศ ภายใต้เป้าหมายคือ การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข
“กระบวนการต่อไป คือ จะจัดพิมพ์ออกมาเป็นรูปแบบ ส่งแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน สรุปความเห็น ประมวลความเห็น ทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ต่อนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คาดว่าแล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์ ในเรื่อง โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และมาตรการการจัดเก็บภาษี โดยรัฐบาลจะเดินหน้าจัดการพื้นที่ 81 แห่งที่ได้รับการร้องเรียน และ 30 แห่งนำร่องทั่วทุกภูมิภาค และจะตั้งคณะกรรมการพร้อมตั้งสำนักงานโฉนดชุมชนในวันที่ 5 ก.ค.นี้ เพื่อจัดสรรที่ดินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยโฉนดชุมชน ภายใต้งบประมาณ 167 ล้านบาท แจกจ่ายให้ชุมชนภายใน 120 วัน”
รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจะเป็นหัวใจที่สำคัญ ข้อมูลข่าวสารต้องไปถึงทุกภาคส่วน ซึ่งเดิมโฉนดชุมชนเคยทำมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่ชัดเจน วันนี้ต้องปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงความคิด แม้ในบางเรื่องยอมรับว่า ไม่สามารถแก้เสร็จ ใน 1 เดือน หรือ 2 เดือน แต่อะไรที่สามารถดำเนินการได้ จะรีบทำให้แล้วเสร็จ และจะทำให้ขบวนการครั้งนี้คงอยู่ต่อไป พร้อมกลไกการทำงานต่อเนื่อง ซึ่งในอีก 3 เดือนข้างจะมีการติดตามงานอีกครั้ง
“เรื่องทุกเรื่องจะต้องควบคู่กับนโยบายที่จะเดินต่อ ไม่เฉพาะเรื่องที่ดินเท่านั้น รัฐบาลจะเปิดประตูต้อนรับประชาชนให้ที่ศูนย์กลางรัฐบาลแห่งนี้ เป็นการเดินหน้า และสร้างความมั่นใจว่า การเสวนาจะไม่สูญเปล่า และมีแนวทางที่วางไว้ชัดเจน โดยในอนาคตต่อไปเดินทางสู่พื้นที่ในเขตต่างจังหวัดเพื่อร่วมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพิ่มเติม และร่วมเดินหน้าการจัดการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินต่อไป”
ด้านนายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม กล่าวถึงผลการระดมความคิดเห็นวานนี้ (24 มิ.ย.) สามารถสรุปเป็นโจทย์ใหญ่ 15 ข้อ คือ
1. สร้างแผนที่เดินทางการทำภารกิจ (Road map) แก้ปัญหาที่ดินทำกินด้วย 3 เครื่องมือหลัก คือ โฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน และมาตรการทางภาษีที่ดิน 2. โฉนดชุมชนต้องเป็นเครื่องมือที่ใช้งานได้ง่าย ยั่งยืนและเข้าถึงกลุ่มปัญหา 3. กระบวนการทำงานของธนาคารที่ดินต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว 4. การเก็บภาษีเพื่อการกระจายการถือครองที่ดิน ควรมีอย่างเป็นธรรม 5.สร้างแนวทางแก้ปัญหาการจัดการที่ดินในเมือง
6. การแก้ปัญหาที่ดินต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและชนกลุ่มน้อย 7. กระบวนการพิสูจน์และกลไกการร้องสิทธิทับซ้อนในที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน 8. ควรมีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับที่ดิน , ที่ทำกินและทรัพยากรน้ำ , ป่าไม้อย่างยุติธรรม 9.บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ
10. เจ้าหน้าที่ต้องสามารถปฏิบัติตามนโยบายของรัฐได้อย่างมีเอกภาพในการยุติการจับกุมและการฟ้องร้องประชาชน 11.กระบวนการยุติธรรมทั้งสามส่วน คือตำรวจ, อัยการ, และศาล จะต้องช่วยลดผลกระทบหรือทางออกให้กับประชาชนให้มากที่สุด 12.การปกป้องชาวบ้านที่ต้องกลายเป็นคนไร้ที่ทำกิน 13.ผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่ ต้องสามารถถือครองที่ดินได้อย่างยั่งยืน 14. การชดเชยที่เหมาะสมแก่ความเสียหายที่รัฐต้องจ่ายให้ประชาชน 15.การแก้ปัญหาแก่ประชาชนที่สูญเสียที่ดินซี่งมีเอกสารสิทธิ์ไปกับภัยธรรมชาติ
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กุญแจที่สำคัญ คือ ต้องทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ รักษาแผ่นดินเป็นความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ อย่าละเลย ความภาคภูมิใจของพี่น้องเกษตรกรต้องเกิดขึ้น ซึ่งจากการประชุมวันนี้ ได้พบว่า ข้างบนที่เป็นรัฐบาลและข้างล่างที่เป็นชาวบ้านเริ่มชัดเจนแล้ว ว่า ปัญหาในครั้งนี้ คืออะไร แต่สิ่งที่ต้องทบทวนและจัดการต่อไป คือ เร่งสร้างตัวเชื่อมว่าจะทำอย่างไรให้การดำเนินงานต่อไปอย่างเป็นระบบอย่างบูรณาการทุกส่วน เรื่องทุกอย่างจะคลี่คลายไปได้
สำหรับการแก้ปัญหาที่ดิน นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า จะเป็นการปฏิรูปประเทศไทยครั้งสำคัญ ด้วยการสร้างการอยู่อย่างภาคภูมิใจ เหมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่ต้องใช้ความสัมพันธ์ 3 ส่วน คือ อำนาจรัฐ กำหนดระเบียบวินัย 2.ธรรมศาสตร์ คือ การใช้ธรรมะ ความเห็นใจ และความเมตตา และ 3.ผลงานวิจัยปัญหา ทำให้ทุกเรื่องเกิดเป็นระบบและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เกิดเป็นพลังพัฒนาประเทศได้
ทั้งนี้จาdการนำเสนอประเด็นปัญหาเร่งด่วนของตัวแทน 11 กลุ่มย่อย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ชาวบ้านพูดถึงมากที่สุด คือ การให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาล โดยคาดหวังว่าจะเกิดการแก้ไขแบบเอกภาพ จำแนกได้ คือ ต้องมีการยุติการจับกุมการบุกรุก , เกิดการประสานงานหลายฝ่ายจากหน่วยงานของรัฐ ,จัดตั้งคณะกรรมการที่มีอำนาจเพียงพอจากทุกจังหวัดและทุกเครือข่าย , เร่งจัดการธนาคารที่ดิน แบ่งจัดสรรที่ดินเพิ่มแก่เกษตรกร ,มีการให้เช่าที่ดินทำกิน เพิ่มขึ้นเพียงพอต่อแต่ละครัวเรือน ,ชดเชยเงินค่าเสียหายอย่างเท่าเทียม ตามราคากลไกราคาที่ดินของระบบตลาดปัจจุบัน, จัดการเรื่องโฉนดชุมชนต้องชัดเจนและมีการประเมินผลต่อเนื่อง และสำคัญที่สุด คือ การใช้บังคับใช้กฎหมายที่ทันสมัย โดยให้ชาวบ้านมีส่วนรับรู้ปัญหามากที่สุด โดยไม่ผ่านหน่วยงานราชการ เพราะจะเป็นการรับรู้ปัญหาไม่ตรงจุด
อีกทั้งยังนำเสนอว่า ต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินงานภายใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน ทุกองค์กรที่เข้ามาต้องรับผิดชอบในการดูแลจัดการปัญหา ทำอย่างจริงใจ ไม่ใช่จริงจังเพียงอย่างเดียว และการแก้ปัญหาต้องยึดหลักจารีตประเพณี ไม่อ้างเพียงความชอบธรรมของกฎหมาย โดยปราศจากประชาชน พร้อมด้วย ต้องเร่งออกคู่มือการแก้ไขปัญหาแก่ชาวบ้าน หน่วยงานราชการ เพื่อจัดการเป็นนโยบายที่เข้าใจตรงกันต่อไป