เผยรายชื่อ คพส. นักวิชาการ-วิชาชีพสื่อ“ปฏิรูปสื่อรัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน”
4 องค์กรสื่อตั้ง“คณะ กก.พัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” ประกอบด้วยผู้แทนองค์กรสื่อมวลชน นักวิชาการสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย นักคุ้มครองผู้บริโภค ร่วม“ปฏิรูปสื่อภาครัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน”
วันนี้ (1 ก.ค.) ที่ประชุมคณะทำงานร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วยผู้แทนจาก สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีมติเสนอชื่อผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อมวลชนและการปฏิรูปสื่อ เป็นกรรมการใน “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” (คพส.)
นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร เลขาธิการ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หนึ่งในคณะทำงานร่วม 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ กล่าวว่าเพื่อให้การทำงานของแผนงาน “ปฏิรูปสื่อภาครัฐ-พัฒนาสื่อเอกชน” บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้จึงได้มีการเสนอชื่อบุคคลจำนวน 11 คนเป็นกรรมการ คพส. ประกอบด้วย
1.นายมานิจ สุขสมจิตร อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 2.นายปราโมทย์ ฝ่ายอุประ ประธาน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ 3.นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ประธาน สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 4. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 5. นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย 6.นายสุนทร จันทรรังสี ตัวแทนนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาค 7. รศ. จุมพล รอดคำดี อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ 8. ดร. สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 9.นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ 10. นางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงาน สื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และ11. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ
คณะกรรมการ คพส. จะมีการประชุมครั้งแรกในวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553 เวลา 14.00 น. ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน เพื่อหารือเรื่องกรอบแนวทางการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะทำงานย่อยจำนวน 5 คณะทำงาน ประกอบด้วย 1. คณะทำงานพัฒนากลไกควบคุมกันเองทางวิชาชีพ 2. คณะทำงานพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพ 3. คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน 4. คณะทำงานปรับปรุงกฎหมายด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ 5. คณะทำงานพัฒนากลไกการเฝ้าระวังการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยคณะทำงานจะทำหน้าที่ผลักดันภารกิจต่างๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์