“อภิสิทธิ์” ผุด 4 เครื่องมือแก้ความไม่เป็นธรรม-ปัญหาที่ดิน
เผยนำร่องออกโฉนดชุมชน 30 พื้นที่ อีก 2-3 เดือนข้างหน้า พร้อมปรับปรุงระบบภาษีกระตุ้นการใช้ที่ดินสมประโยชน์ เร่งตั้งธนาคารที่ดิน ตั้งเป้า 2 ปีทำฐานข้อมูลที่ดินทั่วประเทศ
วันนี้ (24 มิ.ย.) ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี จัดเสวนาประชาชน เรื่อง การจัดการที่ดินเพื่อการทำกิน : ปัญหาและทางออก ระหว่างวันที่ 24-25 มิ.ย. โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, นายกรณ์ จาติกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง,นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายถาวร แสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมรับฟังปัญหาและความคิดเห็นต่อการแก้ปัญหาที่ดินจากประชาชนที่มาร่วมงานกว่า 500 คน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการจัดการที่ดินเพื่อความเป็นธรรมว่า ปัญหาในเรื่องของการถือครองที่ดินในประเทศไทยต้องถือว่าเป็นรูปธรรมที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำค่อนข้างชัดเจน เป็นปัญหาที่สะท้อนออกมาที่รัฐบาลทุกชุดต้องเผชิญ งมีทั้งปัญหาความล่าช้าในการดำเนินการของทุกรัฐบาล และเป็นเรื่องที่ประชาชนได้เรียกร้องเร่งให้มีแก้ไขมาโดยตลอด ซึ่งสาเหตุสำคัญของประเด็นปัญหาที่ดินทำกิน มีหลายมิติ
"ประการแรก ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการใช้ทรัพยากรได้ ประการที่สอง ปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศไทยที่ถือว่ามีความเหลื่อมล้ำชัดเจน ไม่ว่าที่ดินรัฐ ที่กรมป่าไม้ ที่ดินทำการเกษตร พบข้อเท็จจริงว่า กลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยหรือประชาชนทั่วไปไม่สามารถถือครองได้ หรือมีการถือครองที่ดินในจำนวนที่น้อยกว่า ขณะเดียวกันคนกลุ่มน้อยของประเทศถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก และมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่คุ้มค่า ประการที่สาม ประเด็นปัญหาป่ารุกคน คนรุกป่า ปัญหานี้ยากต่อการได้ข้อยุติในกระบวนการพิสูจน์สิทธิ หรือมีปัญหาจากเรื่องกฎหมายที่ดินฉบับหนึ่งส่งผลคาบเกี่ยวต่อกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเป็นต้น ซึ่งต้องเร่งพิสูจน์ดำเนิการ และประการสุดท้าย ปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน"
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อความเป็นธรรม สิ่งที่รัฐบาลพยายามคิด คือ สร้างการทำงานที่วางใจและยอมรับร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่อย่างน้อยที่สุด หลักคิดของรัฐบาลนำสู่นวัตกรรมอย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ 1.โฉนดชุมชนที่รัฐบาลพยายามให้ประชาชนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา พยายามให้มีการตรวจสอบกันเองของประชาชน พยายามมีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ไม่เป็นปัญหาเหมือนที่ผ่านมา จัดระบบกรรมสิทธิ์อิงกับชุมชนให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านี้เกิดประโยชน์ต่อการทำเกษตรกรรม การทำกินของคนในชุมชน ซึ่งเป็นการสะท้อนหลักคิดในการแก้ปัญหาที่สำคัญอย่างยั่งยืน และกำลังจะนำร่องใน 30 พื้นที่ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
2.เรื่องการพยายามปรับปรุงระบบภาษี เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีท้องที่ ภาษีโรงเรือน ฯลฯ ที่จะมีการจัดการอย่างเป็นธรรมโดยจะนำเป็นรายได้หลักเพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะมีบทลงโทษในกรณีที่ละทิ้งที่ดินรกร้างว่างเปล่า และการใช้ที่ดินไม่สมประโยชน์ คาดว่า ต้องรอเวลาเนื่องจากกฎหมายอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา หากทำเรื่องนี้สำเร็จจะทำให้ลดการถือครองที่ดินที่ไม่เกิดประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมได้เป็นอย่างดี
3.การผลักดันเรื่องธนาคารที่ดิน โดยจะนำเก็บภาษีที่ดินมาเป็นกองทุนเพื่อธนาคารที่ดิน รวมถึงมีการเสนอให้นำที่ดินบางส่วน เช่น โฉนดชุมชน มาจัดสรรส่วนนี้ด้วย อีกทั้งจะมีการจัดตั้งองค์กรชั่วคราวขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินดังกล่าว
และ 4.โครงการเร่งด่วนจัดทำฐานข้อมูลที่ดิน โดยจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลัง40-50 ปีมาร่วมพิสูจน์พื้นที่ป่าไม้ ที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งโครงการนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ปียอมรับว่าล่าช้าไป 1เดือน ขณะนี้กำลังเร่งรัดดำเนินการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนดำเนินการจากกองทุนสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามโครงการนี้เพื่อต้องการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องการยุติการถกเถียงเรื่องข้อเท็จจริง ยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่ต้องการเพื่อฟ้องร้องแต่อย่างใด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ทั้ง 4 ประเด็นจำเป็นต่อการแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลกำลังหาแนวทางเพิ่มเติม เช่น การบูรณาการการทำงานระหว่างภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน องค์กรชุมชนท้องถิ่น และภาคประชาชน และต้องมีการปรับปรุงเรื่องเอกสารข้อมูลที่ขณะนี้ยังมีปัญหาที่บางองค์กรยึดการใช้กฎหมาย แต่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินการกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการเชื่อมโยงการทำงานต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้นข้ามช่องว่างดังกล่าว อีกทั้งจะต้องดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสม อาจมีการสร้างหลักประกัน แรงจูงใจ
ก่อนหน้านี้ นายสาทิตย์ กล่าวรายงานปัญหาเรื่องที่ดินทำกินว่า เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุด ที่ยังคงเป็นปัญหามายาวนาน มีความหลากหลาย และสลับซับซ้อน เป็นเรื่องที่ทำให้ มีความขัดแย้งและเป็นข้อพิพาทกัน ไม่ว่าระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐกับรัฐ เอกชนกับเอกชน ในขณะที่ยังมีคนไร้ที่ทำกินจำนวนมาก แต่คนอีกส่วนหนึ่ง อาจมีที่ดินมากมาย เหลือเฟือ เกิดเป็นปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งปัญหาการสูญเสียที่ดินทำเกษตรกรรม, การบุกรุกที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ และอีกหลายประเด็นปัญหา รวมถึงการที่เราจะต้องรักษาพื้นที่ป่าไม้และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน การรักษาพื้นที่ของรัฐเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งนี้ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบรับเรื่องร้องเรียนของพี่น้องประชาชน และเป็นประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายภาคประชาชนหลายคณะ
"เป็นเวลา 1 ปีกว่า มีข้อสรุปได้ว่า กว่าร้อยละ 80 เรื่องที่ประชาชนร้องเรียนขอความเป็นธรรมให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ คือ เรื่องที่ดินทำกิน เรื่องไร้ที่ดินทำกินและประชาชนขอให้รัฐจัดที่ดินทำกินให้ เรื่องหนี้สิน ทำให้ที่ดินหลุดมือ เรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หลายปัญหาปัจจุบันได้แก้ไขแล้วเสร็จ บางปัญหาได้รับการเยียวยา บางปัญหาร่วมกับภาคประชาชนคิดแนวทางการแก้ไข และบางปัญหาแก้ไขโดยใช้นโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เช่นเรื่องโฉนดชุมชน เป็นต้น"
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอต่างๆ จากผู้เข้าร่วมการเสวนา จะมีการเก็บรวบรวม บันทึก โดยคณะนักวิชาการจะได้สรุปแปลผล และจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อกำหนดเป็นนโยบายของรัฐบาล และนำไปสู่การปฏิบัติในการสร้างความเป็นธรรมต่อไป