“อานันท์” เผยหลัง 10 ก.ค.เห็นชัดคณะกรรมการปฏิรูปฯ
อดีตนายกฯ ย้ำชัดอีกรอบคณะกรรมการปฏิรูป ไม่เกี่ยวกับแผนปรองดอง อย่าโยงยุ่งเกี่ยวรัฐบาล ยันสิ่งที่ทำเพื่อสังคมส่วนใหญ่ขอให้ถือเป็นวาระประชาชน "วาระแห่งชาติ" ที่ต้องเดินหน้าแก้ไขทุกปัญหา
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศไทยว่า ตนเพิ่งได้รับตำแหน่งประธานมาเมื่อ 2-3 วัน ดังนั้น ต้องขอเวลาพิจารณาสักระยะในการดำเนินการ โดยขณะนี้ มีรายชื่อ คณะกรรมการปฏิรูปฯในใจจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องขอหารือกับทางด้าน นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปและคณะเสียก่อน เพื่อให้ทราบถึงประวัติ ผลงาน ของแต่ละบุคคลว่า ทำเรื่องอะไรบ้าง และมีวัตถุประสงค์อย่างไร เพราะต่อไปคณะกรรมการกลุ่มจะต้องมาช่วยดูแล และทำงานเรื่องยุทธศาสตร์และลำดับก่อนหลัง
“สิ่งหนึ่งที่อยากพูด และหลายฝ่ายยังไม่ยอมเข้าใจ คือ คณะกรรมการปฏิรูปฯไม่ใช่ คณะกรรมการปรองดอง เป็นคนละเรื่องกัน เรื่องปรองดองเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีและฝ่ายรัฐบาล ซึ่งจะมีแผนดำเนินงานอย่างไรนั้น ทางผมไม่ทราบ แต่คณะกรรมการการปฏิรูปฯ เป็นการมองสู่อนาคต ไม่พัวพันกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับอดีต เป็นวาระของคณะกรรมการปฏิรูปฯที่ภาคประชาชนสร้างขึ้นมา และได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อเสนอมายังคณะของทาง นพ.ประเวศ เพราะฉะนั้น จะไม่เกี่ยวกับการปรองดอง แต่เมื่อทำงานไปแล้วจะมีผลลัพธ์ออกมา แล้วไปช่วยในเรื่องการปรองดอง ต้องถือว่านั่นเป็นผลพลอยได้มากกว่า”
นายอานันท์ กล่าวว่า อย่าเรียกชื่อ คณะกรรมการของตนหรือคณะกรรมการของ นพ.ประเวศ ว่า ปรองดอง เพราะไม่เกี่ยวกันแต่สิ่งที่ทำเป็นการปฏิรูป เป็นระเบียบที่ไม่ผูกโยงกับคนใดคนหนึ่งหรือรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง เป็นวาระของประชาชน วาระของชาติ ซึ่งหากจะมีรัฐบาลใดก็ตาม ปัญหาต่างๆเหล่านี้ก็จะเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการสะสาง มีการได้รับการดูแลแก้ไขต่อไป
“สำหรับแนวทางการปฏิบัติ ขณะนี้ยังไม่ได้วางแนวทางไว้ เพราะต้องมีการพูดคุยกันระหว่างทีมคณะกรรมการทั้งสองฝ่าย ส่วนตัวได้คิดไว้บ้างแล้ว แต่ต้องรอความคิดเห็นจากทุกท่านที่จะมาเป็นคณะกรรมการฯด้วย คาดว่าประมาณต้นเดือนหน้า หลังวันที่ 10 กรกฎาคม จะรู้ผลความชัดเจนเรื่องบุคคล และหลังวันที่ 15 กรกฎาคม จะสามารถบอกแนวทางการทำงานได้ ขณะนี้ไม่ใช่การรื้อตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของอำนาจการแต่งตั้งคน ซึ่งจะเป็นของตนและ นพ.ประเวศโดยตรง เพื่อให้คนที่คิดจะชวนเข้ามาได้รับทราบในการทำงานที่ผ่านมา ก่อนจะวางแผนทิศทางการดำเนินงาน กำหนดไว้ที่ประมาณ 15-20 คน มาจากทุกภาคส่วน และมาจากสาขาวิชาชีพต่างๆ”
ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ กล่าวด้วยว่า ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นเรื่องความไม่ไว้ใจ แต่คณะกรรมการของทีมตนและ นพ.ประเวศ มีสิทธิ์เป็นอิสระ มีเรื่องที่ต้องทำ ซึ่งเมื่อทำออกไปแล้ว หวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในส่วนใหญ่ แต่ไม่ใช่เป็นประโยชน์จากรัฐบาลใดเท่านั้น