บ้านเมืองต้องการความคิดใหม่ ปฏิรูปประเทศไทยให้สังคมนำ
หมอประเวศ วอนคนไทยเข้าใจประเด็นปฏิรูปร่วมกัน มุ่งสู่ประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ด้าน ‘สมคิด’ แนะไทยควรดูบทเรียนปฏิรูปจากอินโดฯ ย้ำต้องไม่ใช่ปฏิรูปทั่วไป หรือเป็นเพียงลมปากนักการเมือง แต่คือการเรียกคืน ไทยแลนด์แบรนด์ ความสุข สงบ รักใคร่ ปรองดอง อย่าเมื่อยแล้วพัก เช่นในอดีต
วานนี้ (18 มิ.ย.) บริษัท สยามรัฐ จำกัด จัดงานปาฐกถาครั้งประวัติศาสตร์จารึกครบรอบสยามรัฐ 60 ปี มีนพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษร่วม เรื่อง “ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย” ที่โรงแรมอิมพีเรียล คลีนส์ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร
นพ.ประเวศ กล่าวว่า ความจริงแล้วบ้านเมืองมีทรัพยากรมากมายเกินพอที่จะสร้างความสุขให้คนไทยทุกคน สามารถผลิตอาหารที่เพียงพอ ซึ่งหากจัดการดูแลให้ดี จะกลายเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลกได้ ซึ่งถึงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งในการกลับไปทบทวนกันดูเกิดจากอะไร และจะก้าวเดินหน้าต่อได้อย่างไร
“กว่า 10 ปีมาแล้ว ผมได้พูดเรื่อง วิกฤตลูกที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนที่นายกฯทักษิณ จะปรากฏตัวขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่มีตัวต้นสายปลายเหตุ ไม่มีใครรู้ว่าใครคือศัตรู และกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขไม่ได้ เพราะมันซับซ้อนเกิน การใช้อำนาจจะแก้ไม่ได้ ตัวอย่าง นายกฯชวน หลีกภัย อยากแก้ปัญหาโสเภณีเด็ก ก็แก้ไม่ได้ ประธานาธิบดี บิล คลินตัน อยากปฏิรูประบบสุขภาพอเมริกัน ยังทำไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องความซ้ำซ้อน ที่จะใช้อำนาจไม่ได้เลย เพราะหากใช้การเมืองนำจะยากมาก การเมืองจะมีทั้งศัตรู แต่หากให้สังคมนำ การเมืองนำจะง่ายกว่า”
ปฏิรูปฯ มี 10 เรื่อง ยากสุด คือ สร้างจิตสำนึกใหม่
นพ.ประเวศ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยมีอยู่ 10 เรื่อง ที่ยากที่สุด คือ สร้างจิตสำนึกใหม่ เพราะสังคมประเทศไทยใหญ่ ซับซ้อน แต่จิตสำนึกยังเล็ก สังคมไม่ไปด้วยกัน 2. สร้างสัมมาชีพ เต็มพื้นที่ ต่างจากการเร่งเติบโตของ จีดีพี เพราะไม่ได้บอกการกระจายรายได้ แต่จะหมายถึง ชีพ ที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง 3. สร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 4. สร้างระบบการศึกษาพาชาติออกจากวิกฤต 5.สร้างธรรมาภิบาลการเมือง การปกครอง ความยุติธรรมและสันติภาพ แม้พยายามปลุกระดมมาตั้งแต่ ปี 1987 ว่าศตวรรษหน้าเป็นศตวรรษแห่งความขัดแย้ง และไม่มีทักษะแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถปฏิรูปกฎหมายได้
“6. การสร้างระบบสวัสดิการสังคม ที่ต้องก้าวหน้า ไม่ใช่เพียงการเที่ยวแจกเงิน 7.ความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 8. ปฏิรูประบบสุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งสังคม ปัญญา 9. วิจัยยุทธศาสตร์ชาติ ประเทศทุกประเทศในโลกเชื่อมโยงกันทั้งโลก หากมีอะไรเกิดขึ้น จะกระทบหมด ดังนั้น ต้องวิจัยให้รู้ทั้งหมด ว่าจะกระทบเราอย่างไร จะได้ไม่ให้เสียเปรียบ และ10. สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการสร้างสรรค์ทั้งหมด หากมีระบบสื่อสารที่ดี จะทำให้คนไทยรู้หมด อย่างทั่วถึง”
ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า แนวทางปฏิรูป โดยหลักการจะต้องให้สังคมนำ โดยสังคมจะนำได้ต้องมีปัญญา หากไม่มีจะนำไปสู่การชุมนุม ซึ่งจากทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา จากเรื่องยากๆ ต้องใช้โครงสร้างให้ทุกพลังมาเชื่อมโยงกัน อำนาจรัฐอย่างเดียวไม่สำเร็จ พลังสังคมอย่างเดียวก็ไม่มีพลัง บางครั้งเกิดความรุนแรง แต่ถ้าทุกอย่างรวมกันจะสามารถเขยื้อนเรื่องยากได้
“หลายคนบอกว่า อยากให้นักการเมืองบริสุทธิ์ ผมเองไม่เชื่อเช่นนั้น นักการเมืองเป็นอย่างไรมาจากการสะท้อนให้เห็นสังคมว่าเป็นเช่นนั้นจริง อย่าไปรอให้ต้องปฏิรูปการเมือง หากจะเคลื่อนสังคมด้วยปัญญา การเมืองจะเป็นอย่างไร เราก็สามารถทำสิ่งดีๆได้ หลายครั้งเห็นตัวอย่างที่เอ็นจีโอนักวิชาการไม่คุยกับนักการเมือง เพราะไม่ชอบการทำงานของนักการเมือง แต่แท้จริงควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพ ซึ่งอย่างผมเองแทบทุกพรรคมาชวน รวมขบวนการทางการเมือง แต่ผมบอกว่าเรื่องสังคมเป็นเรื่องยาก เรื่องยากต้องทำระยะยาว อย่างวิธีการ สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา มีมาตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ค้นพบว่าบ้านเมืองต้องการความคิดใหม่ ว่า หากทุกอย่างมีความรู้ การแก้ไขปัญหาจะไม่สูญหาย”
ปฏิรูปฯ ควรตอบโจทย์จากการขับเคลื่อนทางสังคม
นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า สมัยรัฐบาลบรรหาร ประกาศว่า จะปฏิรูปการเมือง ซึ่งในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองออกประกาศ กลายเป็นนโยบายทางการเมือง ทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เรื่องได้ชะลอและยุติลงไป ซึ่งการปฏิรูปประเทศไทยครั้งนี้ ควรตอบโจทย์จากการขับเคลื่อนทางสังคม แม้ไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากปฏิรูป แต่ทุกอย่างจะดำเนินไปในภาคสังคม
“ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการออกแบบที่ชัดเจน แกะแบบโมเดลไปเรื่อยๆ และไม่คิดถึงระบบที่ชัดเจน อุปมาเปรียบได้ดังว่า ไม่มีพระเจดีย์องค์ใด สร้างสำเร็จได้จากยอด แต่ต้องสร้างจากฐาน ซึ่งเกือบ 1 ศตวรรษ ทุกเรื่องจะเริ่มพังลงๆ เศรษฐกิจที่มองแต่ส่วนบน ทำให้เกิดช่องว่างอย่างมาก หรือว่าการศึกษาที่เน้นการศึกษาระดับชาติ จากมหาวิทยาลัยไทย ที่ไม่อดทน ไม่เคยมองที่การศึกษาระดับฐานราก จนเกิดเป็นผลผลิตบัณฑิตเช่นทุกวันนี้ นับตั้งแต่การสร้างประชาธิปไตยในปี 2475 ก็ไม่เคยสร้างประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ไม่เกิดการรวมตัวของท้องถิ่น มีเพียงการรวมศูนย์กลางอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ส่งผลกระทบให้ประเทศไม่เข้มแข็ง”
นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า หากมีการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมาทำงานกับจังหวัด จะเกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการในทุกด้าน เพราะขณะนี้สังคมไทยแยกส่วนกันอยู่ ไม่ได้เอาผืนแผ่นดินไทยเป็นตัวตั้ง หากเชื่อมโยงทุกอย่างให้เกื้อกูลกัน ผนึกกับระบบเศรษฐกิจชุมชน จะถือเป็นการเอาประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยทางอ้อมมารวมกัน เกิดเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนโดยตรง เมื่อคนทั้งประเทศมารวมกัน มีกระบวนการทางสังคม เข้าใจประเด็นปฏิรูปร่วมกัน ต่อไปคนไทยจะไม่ต้องลงไปท้องถนน ไม่เกิดการชุมนุม หรือสร้างเรื่องราวต่อไป
“แม้บางเรื่องอาจเป็นนามธรรม แต่การปฏิรูปครั้งนี้ อยากเห็นทุกฝ่าย ช่วยกันคิด ว่าจะทำอย่างไร โดยให้สื่อมวลชนเป็นตัวเชื่อม รับฟังความคิดเห็นทุกคน มาสังเคราะห์ต่อรัฐบาล นำไปสู่คณะกรรมการในการดำเนินการ บ้านเมืองจะเกิดพลัง เป็นการสร้างปฏิวัติประชาธิปไตย จากการใช้การสื่อสารร่วมกันหมด คิดต่างไม่เป็นไร แต่ทุกคนเป็นคนไทยร่วมกัน จะเป็นสีอะไร ให้เรื่องอื่นเป็นมายาคติ แต่ลึกๆ คนไทยต้องมีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”
"สมคิด" ขอรัฐบาลจริงใจ ไม่ใช่เพียงลมปากทางการเมือง
ด้านดร.สมคิด กล่าวว่า ประชาธิปไตยประเทศไทย นำพาประเทศชาติเข้าสู่วิกฤต เหตุการณ์ในปี 2540 จะเป็นวิกฤตการณ์ที่เป็นวิกฤตที่สุด แต่เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ความคิดที่ว่าคนไทยรักใคร่ปรองดองนั้นต้องเปลี่ยนไป แม้ว่าความเสียหายในทางเศรษฐกิจจะไม่เสียหายมาก แต่โดยรวมนั้นได้ทำลายความมีคุณค่าในอดีตที่เป็นฐานรากสำคัญให้ประเทศ ที่เจริญเติบโตและพัฒนา ภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นของประเทศ ที่เคยอยู่อย่างโดดเด่น เหนือชาติอื่น
“วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ผลขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นผลล้มเหลวของประเทศที่มุ่งเน้นสร้างความมั่งคั่ง สร้างความรู้สึกของคนๆหนึ่งให้ถูกละทิ้ง โดยเมื่อถูกกระตุ้น กลายเป็นแรงประทุขึ้นมา เป็นความล้มเหลวของสังคม ในการบ่มเพาะความคิด ศีลธรรม จิตสำนึก หน้าที่ ความรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้น คงไม่ปรากฏ ซึ่งทุกวันนี้เรามีนักการเมือง ที่บั่นทอนศักยภาพของบ้านเมือง พยายามหลอกคนอื่น และหลอกตัวเอง ว่าเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นได้แค่ประชาธิปไตยเพียงเป็นเปลือก และแอบใช้เปลือกเป็นประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะส่วนเท่านั้น”
ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ในวันนี้รัฐบาลได้ชูธงปฏิรูปประเทศไทยขึ้นมาแล้ว ขอให้รัฐบาลจริงใจ ไม่ใช่เพียงลมปากทางการเมือง สิ่งสำคัญ คือ ต้องรู้ว่าจะปฏิรูปอะไร ปฏิรูปอย่างไร โดยผู้อื่น และคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะช่วยได้เพียงการขับเคลื่อน แต่ไม่สามารถเป็นผู้บริหารประเทศ ซึ่งต้องฝากไว้กับรัฐบาลด้วย
“หนังสือพิมพ์ ฉบับหนึ่งของต่างประเทศได้ขึ้นปก เป็นเนื้อหาของประเทศไทย ซึ่งอ่านแล้วเสียใจมากว่า ขณะนี้ประเทศไทยทำประเทศพังได้อย่างไร จ่าหัวว่า จุดจบของแบรนด์ประเทศ เนื้อหาสาระกล่าวว่า ดินแดนไทยที่ทั่วโลกอิจฉา ดินแดนที่มีเสถียรภาพ ถูกบั่นทอนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ผิดพลาด คือ การละเลยการปฏิรูปอย่างจริงจัง ประเทศไทยไม่เคยจริงจังกับการปฏิรูปการศึกษา หรือการปฏิรูปอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน แต่พอใจการรับจ้างผลิต การบริหารจัดการ ไม่ปฏิรูปเพื่อการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง ทุกอย่างรวมสู่ส่วนกลาง อีกทั้งทิ้งท้ายด้วยว่า หนทางสู่การฟื้นคืนนั้น ดูแล้วยังห่างไกลเป็นอย่างยิ่ง”
ดูอิเหนาตัวอย่าง จริงจังเด็ดเดียว
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าเราจะปฏิรูปประเทศไทย คงต้องช่วยกันตอบคำถาม การปฏิรูปครั้งนี้ ต้องไม่ใช่ปฏิรูปทั่วไป แต่เป็นการปฏิรูปที่เรียกคืนสิ่งที่เป็นไทยแลนด์แบรนด์ คือ ความสุข สงบ รักใคร่ ปรองดอง อย่าเป็นการเมื่อยแล้วพัก เช่นในอดีต
“หากจะมุ่งสู่การปฏิรูปนี้ ต้องดูตัวอย่าง ประเทศอินโดนีเซีย ที่เคยมีเหตุจลาจลทั้งประเทศ อีกทั้งหนี้สินรุงรังแต่ฟื้นคืนมาได้จากการปฏิรูปอย่างจริงจังเด็ดเดียว จากประเทศที่ล้มละลาย กลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ เศรษฐกิจเจริญเติบโต การคลังมั่นคง เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุด โดยสิ่งที่ต้องเอามาเป็นบทเรียน คือ การที่ผู้นำของอินโดนีเซียลงมาปฏิรูปการเมืองด้วยตนเอง และไม่ได้มาเพียงคนเดียว แต่ได้คัดเลือกบุคลากรที่เก่งที่สุดมาร่วมปฏิรูปด้วย แม้จะอยู่ในพรรคการเมืองใดก็ตาม สำหรับในประเทศไทยหากผู้นำคณะรัฐมนตรีไม่ลงมาแก้ปัญหาด้วยตนเอง อย่าหวังว่าประเทศไทยจะเห็นอนาคต”
ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อินโดนีเซีย ยังเน้นเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ จากที่เคยมีหนี้สาธารณะพุ่งกระฉูด แต่สามารถปรับมาให้เข้มแข็งได้ เพราะรัฐมนตรีการคลังมีความตั้งใจเน้นสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ก่อนสร้างฐานเจดีย์ที่นำไปสู่ยอดบน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยยังเป็นเพียงการที่รัฐลงทุนให้เกิดระบบสวัสดิการเอาเงินงบประมาณมาลงทุน แต่หลายหน่วยงานยังไม่ให้ความร่วมมือ
“เรื่องสุดท้ายที่ต้องเอาเป็นแบบอย่าง คือ การปฏิรูประบบราชการ อินโดนีเซียมีการรื้อครั้งใหญ่ แต่ไทยยังคงประคับประคองต่อไป ส่งผลร้าย คือ คนดีไม่สามารถเข้ามาทำงานในระบบราชการได้ หรือแม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจเองก็ต้องปรับ โดยแนวทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุด คือ ต้องปฏิรูปกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรม ให้ต่างชาติมั่นใจ ยอมรับใน ศักยภาพ “
ดร.สมคิด กล่าวทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยยังคงมีความหวัง แต่ต่อไปควรมีผู้นำที่เป็นรัฐบุรุษ ที่อุทิศทุกอย่างเพื่อการเมืองอย่างจริงจัง เพราะว่าถึงจุดหนึ่งคนไทยต้องหันหน้าเข้าหากัน ในวันนี้จากอดีตที่ผ่านมาได้มาถึงจุดเสื่อมของประเทศ กำลังอ่อนแอ จำเป็นต้องปฏิรูป ซึ่งหากไม่ปฏิรูปอย่างจริงจังในวันนี้ จะไม่สามารถตอบคำถามกับลูกหลานได้ว่าทำไม เมืองไทยไม่เริ่มปฏิรูปเสียตั้งแต่ตอนนั้น