เสนอ “อานันท์-ประเวศ-ไพบูลย์-อคิน” นั่งตำแหน่ง ปธ. ปฏิรูปประเทศไทย
เครือข่ายภาคประชาชน เดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทย ยื่นข้อเสนอใช้กลไก 5 ส.ขับเคลื่อน ‘หมอประเวศ’ แนะมองให้แยกส่วน มากกว่าการปรองดอง ด้าน นายกรัฐมนตรี ขานรับมุ่งสู่รูปธรรมภายใน 6 เดือน ก่อนสร้างกลไกเข้มแข็งปฏิรูปประเทศสำเร็จ 3 ปี
วันนี้(17 มิ.ย.) มูลนิธิพัฒนาไท โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ร่วมกับ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย โดยมีกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ภาคเอกชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐ กว่า 500 คน เข้าร่วม ณ ห้องแซฟไฟล์ 4-5 อาคารคอนเวนชั้นเซ็นเตอร์ ชั้น 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ และสร้างความเข้าใจร่วมกันในการระดมความคิดเห็นว่า ประเทศไทยมีการพัฒนามายาวนาน ซึ่งขณะนี้ได้มีวิกฤตเกิดขึ้น จนเกิดกระแสเรียกร้องปฏิรูปประเทศไทยอย่างจริงจัง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยได้รับการตอบรับอย่างกว้างขวาง และ เพื่อให้กระแสไม่เป็นเช่นดังไฟไหม้ฟาง จึงควรสร้างแนวทางที่เหมาะสม เกิดการระดมความคิดเห็นจากกลุ่มประชาชน เพื่อร่วมกันจัดการแก้ไขปัญหาได้ตรงประเด็น
จากนั้น ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บรรยายพิเศษ เรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย” ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก เป็นปัญหาที่ซับซ้อนทางโครงสร้าง ซึ่งอำนาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องแก้ที่โครงสร้าง และต้องใช้สังคมนำการเมือง และเมื่ออำนาจทางสังคม เชื่อมโยงกันจะกลายเป็นสังคมสมานุภาพ มีความเป็นธรรม หากให้สิ่งที่เคลื่อน คือ สังคม และการเมือง เป็นตัวตาม ตามทฤษฎี สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ พลังสังคม พลังปัญญา และพลังรัฐ จะเคลื่อนไปได้อย่างสำเร็จ
“อย่าประมาทว่าการเรียกร้องในวันนี้จะสำเร็จ หากเป็นเพียงการทำงานของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีอาคีโน ของฟิลิปปินส์ ที่มีทั้งพลังจากอำนาจรัฐและพลังทางสังคม จากการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน แต่ไม่สามารถทำเรื่องการแก้ไขความยากจนและความอยุติธรรมทางสังคมได้ เพราะยังขาดพลังทางปัญญา เช่นเดียวกับประธานาธิบดีบิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการทำเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีพลังอำนาจรัฐและพลังทางปัญญา แต่ยังขาดพลังทางสังคม”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า การที่จะปฏิรูปประเทศไทย พลังทางสังคม สังคมต้องนำ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี จากการที่ประชาชนตื่นตัว มีการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร เปลี่ยนโครงสร้างทางดิ่ง เป็นโครงสร้างทางราก สร้างให้สังคมเข้มแข็ง และเกื้อหนุนให้เกิดอย่างมีอิสระ ปราศจากอำนาจรัฐ
“กลไกการทำงาน ต้องไม่ใช่เพียงกลไกเดียว ส่วนใดอยากมาหนุนก็ทำได้ นำมาสังเคราะห์ร่วมกัน จนเกิดเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ร่วมของสังคมทั้งหมด ถือเป็นแสงเลเซอร์ของสังคม ที่ยุติไม่ได้ เป็นเจตนารมณ์ของสังคม เป็นประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ อีกทั้งมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศที่ไม่ค่อยทำงาน ต้องออกมาปฏิรูป สัมผัสชุมชนท้องถิ่น เพราะจากที่มหาวิทยาลัยอยู่นอกสังคม ไม่ร่วมแก้ปัญหา เป็นเหตุให้สังคมอ่อนแอ”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวถึงการประชุมวันนี้ ทุกส่วน ต้องสร้างแบบกลไก การขับเคลื่อนปฏิรูป เพื่อส่งเสริมสังคม จากการนำเสนอความเห็นต่างๆจากทั่วประเทศ เชื่อมโยงไปถึงฝ่ายวิชาการ ให้สังคมได้ร่วม หากสังคมไม่ได้ร่วมอาจบิดเบี้ยว เรื่องการปฏิรูปมีมากกว่า 20 ปีแล้ว ตั้งแต่การปฏิรูปสุขภาพ ความยากจน จนกระทั่ง มีการจัดประชุมการปฏิรูปประเทศไทยฝ่ายวิชาการ จากทุกภาคปี โดยตั้งเป้าว่าประเทศจะวิกฤต หากไม่เริ่มต้น จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่หมักหมม ต้องปฏิรูปใหญ่ทุกด้าน เชิญคนมาคุยเรื่องต่างๆ กระแสจะเกิด ขณะที่เรื่องเร่งด่วน คือ การแก้ความเหลื่อมล้ำ การขาดความเป็นธรรม
“ต้องแยกให้ออกเป็น 2 เรื่อง ว่าการปฏิรูปไม่ใช่การปรองดอง การปฏิรูปเป็นการมองไปข้างหน้า รวมตัวกันทำในสิ่งที่ดี เพราะหากไปนั่งแก้ปัญหาเก่า ยิ่งคุยไป ยิ่งทะเลาะกัน หากรวมตัวจะเป็นสิ่งที่มีค่า เกิดความน่าเชื่อถือ แล้วขับเคลื่อนไป ต้องสร้างกระบวนการแสวงหาความจริง ความสมานฉันท์ มีการพูดคุยกันเรื่อยๆ การพูดคุยไม่ใช่การตกลง แต่ต้องพูดให้เกิดข้อมูลนั้นเดินหน้าไปได้”
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า หากเปลี่ยนรัฐบาล การปฏิรูปต้องยังอยู่ สร้างเป็นมติคณะรัฐมนตรีไม่ได้ ต้องสร้างเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งคณะกรรมการเป็นสำนักงานสนับสนุน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะเมื่อเป็นธรรมแล้วจะเกิดการปรองดอง และเข้มแข็ง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
จากนั้น นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี , ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการ สสส. และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ร่วมเป็นประธานในการอภิปรายระดมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนองค์กรภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า หากจะปฏิรูปให้สำเร็จต้องมีคน เงิน กลไก วิธีการกระบวนการ และนำสาระประกอบเพื่อดำเนินการขับเคลื่อน และต่อเนื่อง สนับสนุนโดยภาครัฐแต่ต้องก้าวข้ามรัฐบาล การปฏิรูปต้องใช้เวลานาน ไม่สามารถเสร็จสิ้น ในรัฐบาลปัจจุบันได้
ส่วนทพ.กฤษดา กล่าวสรุปการระดมความคิดเห็นเสนอแก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.ข้อเสนอทางเนื้อหา คือ ให้ความสำคัญ กับความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ทางเศรษฐกิจ สังคม การใช้ทรัพยากร สื่อสารมวลชน โดยมุ่งการปฏิรูปทุกด้านเพื่อ เกิดความยั่งยืน และ 2.ข้อเสนอเชิงกลไก โดยให้ขับเคลื่อนโดยใช้หลัก 5 ส. ได้แก่ สันติภาพ สามัคคี สัตยาบัน สื่อสาร และการมีส่วนร่วม เน้นการเปิดพื้นที่จากทุกระดับ มีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รัฐบาลเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุน พร้อมทั้งเสนอแนะผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ช่วยคิด ดูแลการขับเคลื่อนในครั้งนี้ ได้แก่ นายอานันท์ ปันยารชุน , ศ.นพ.ประเวศ วะสี , นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และ ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เดินทางไปรับฟังรายงานผลการระดมความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศไทย และกล่าวถึงการปฏิรูปประเทศไทยว่า ทำเพื่อส่วนรวม เป็นปัญหายาก และสะสมมานาน อาทิ ที่ทำกิน หนี้สิน โอกาส จากการที่ประชาชน พยายามเข้ามามีส่วนร่วมในสถานการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ต้องเผชิญ ที่ต้องรวบรวมคนไทยเป็นหนึ่งเดียวและผลักดันร่วมกัน
“สำหรับข้อเสนอทั้งหมด พร้อมนำไปดำเนินการต่อทันที โดยในส่วนของรายชื่อบุคคลที่เสนอมาให้ช่วงงานขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทยนั้น ก็พร้อมไปทาบทามเชิญมาร่วมงาน โดยจะดำเนินการให้ชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนเรื่องของเวลาในการปฏิรูปจะใช้กรอบเวลาที่เหมาะสม 3 ปี ที่เป็นกรอบเวลาที่เป็นจริงได้ ไม่สั้นเกินไป และยาวเพียงพอ”
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การดำเนินการจากนี้ มีแผนการออกไปรับความคิดเห็น การทำแบบสำรวจ สะท้อนความรู้สึก กระบวนการรับฟัง และการสนับสนุนงบจากรัฐ ซึ่งแผนเหล่านี้น่าจะมีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องรอแผนเสร็จก่อนแล้วค่อยดำเนินการปัญหา แต่ทุกส่วนสามารถทำไปโดยอิสระได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐบาล
“ สิ่งสำคัญ คือ การวางตัวของภาครัฐ ที่ขั้วหนึ่งไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามายุ่ง หรือชี้นำ เพราะการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพียงคอยฟังคอยรับคำสั่ง หรือดำเนินการจัดหางบประมาณเท่านั้น แต่อีกขั้วเห็นว่า รัฐบาลต้องจัดการอะไรบางอย่างด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องทำสิ่งเหล่านี้ไปด้วยกันเป็นคู่ขนาน”
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายมีจัดการสนทนากลุ่ม 3 ประเด็น คือ การจัดการทรัพยากรน้ำที่พึงประสงค์และเป็นธรรม , การจัดระบบสวัสดิการที่พึงประสงค์และเป็นธรรม และความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ภายใต้หัวข้อ 3 เดือนข้างหน้า อยากทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร เพื่อให้ภาคประชาชนร่วมเสนอปัญหาเพิ่มเติม