ระดมร่างแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กระยะกลาง มุ่งสู่ประเทศน่าอยู่ ปลอดภัย
ผช.รมว.พม. ระบุ เครือข่ายพัฒนาเด็กมีอยู่มาก แต่ยังขาดการบูรณาการ จี้รัฐ ลงทุน เยียวยา ส่งเสริม เพิ่มตัวชี้วัดพัฒนาประสิทธิภาพเต็มความสามารถ อีกทั้งผนึกกำลังสร้าง โลกที่เหมาะสม ปลอดภัย สำหรับเด็กและเยาวชน
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ปาฐกถานำ หัวข้อ “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก :ทศวรรษแห่งความหวังจากพลังเครือข่าย” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการระยะกลาง 4 ปี พ.ศ. 2553-2556 เพื่อรองรับนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านการพัฒนาเด็ก ตามแนวทาง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” (พ.ศ. 2550-2559) จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร มีเด็ก เยาวชน ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมระดมจัดทำแผน
นายวุฒิกร กล่าวว่า การดูแลเรื่องเด็กเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานการพัฒนาเด็กในเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยต้องดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับเด็กมาช่วยดูแลและสร้างตัวชี้วัดสำหรับการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความคาดหวังที่จะสร้างประเทศให้น่าอยู่ และปลอดภัยสำหรับเด็ก รวมทั้งจัดการยุทธศาสตร์เชิงกฎหมายที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง
“เด็กและเยาวชน คือ พลังที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต รัฐต้องมีการลงทุน เพื่อส่งเสริม พัฒนา คุ้มครอง แม้ว่าเงินทุนที่มีอยู่ในประเทศ อย่างจำกัด เพื่อช่วยแก้ไขและเยียวยา เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจชาติที่บีบคั้นเช่นปัจจุบัน สร้างให้เด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาทิ การใช้พลังทางเพศ การหมกมุ่นอยู่ในสื่อเทคโนโลยี ไม่สร้างสรรค์ การใช้ความรุนแรง ใช้สารเสพติด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก การขาดต้นแบบที่ดี เพราะฉะนั้น การร่วมสร้างแบบชีวิต เพื่อสร้างความต้านทานในด้านสังคมผ่านการทำงานของเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมสร้างแผนยุทธศาสตร์จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง”
นายวุฒิกร กล่าวต่อว่า การเพิ่มบุคลากรเข้ามาช่วยทำงานเรื่องเด็กเชิงคุณภาพในท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีหน่วยงานสำหรับเด็กและเยาวชนภาคประชาสังคม ในระดับต่างๆ ปริมาณมาก แต่ยังขาดการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมจากทุกภาคส่วน
“ การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งจะช่วยให้การประสานงานส่วนต่างๆได้ดีขึ้น เพราะทุกคนต้องเห็นภาพการพัฒนาของเด็ก เยาวชน ทุกระดับ ทุกเพศ ได้รับการพัฒนา และไม่ต้องการเห็นความล้าหลัง นับว่าเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่าง รัฐ เอกชน ท้องถิ่น สำคัญที่สุด คือ เด็กและเยาวชน ที่จะมาทำแผนงานร่วมกันภายใน 3 ปี 10 ปี และในระยะยาวในอนาคต”
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวอีกว่า เมื่อทุกองค์กรช่วยกัน จะช่วยสร้างเสริมซ่อมแซมส่วนต่างๆของสังคมไทย เหมาะสำหรับการเติบโต มีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง สร้างให้พ่อแม่รู้จักหน้าที่ของตน มีที่เรียนรู้สร้างสรรค์ เน้นการรับผิดชอบร่วมกัน จากเดิมต่างคนต่างทำหน้าที่ ผ่านการทำงานเชิงเครือข่ายกายภาค เนตเวิร์ก เพื่อช่วยเตือนภัยของสังคมที่จะเป็นอันตรายและเป็นภัยกับเด็กได้มากขึ้น
ขณะที่นายกิตติ สมานไทย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจากองค์การสหประชาชาติ ได้จัดประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ว่าด้วยเรื่อง “โลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก” ซึ่ง คณะรัฐมนตรีมีมติให้ พม.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็ก จากนั้นได้ประสานงานระดมความคิดจากทุกภาคส่วน จากเด็ก เยาวชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเสนอแผนเพิ่มขึ้นแต่ละด้าน คือ ด้านครอบครัวกับเด็ก ด้านสุขภาพ ด้านการเสริมสร้างความปลอดภัย ด้านโรคเอดส์ ด้านการศึกษา ด้านการเมือง ด้านวัฒนธรรมและศาสนา ด้านกฎหมาย ด้านนันทนาการ ด้านการส่งเสริมบทบาทสื่อมวลชน และด้านการปกป้องเด็ก รวมทั้งสิ้น 11 ด้าน ซึ่งในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาเด็ก และยุทธศาสตร์ระดับชาติในระยะยาว จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในการทำแผนระยะกลาง 10 ปี ให้เกิดเป็นรูปธรรม ในการสร้างโลกที่ปลอดภัย น่าอยู่ สำหรับเด็กและเยาวชน