วงถก “ทางออกสังคมไทยหลังวิกฤต 19 พ.ค."หวั่นเดินซ้ำรอยเมืองดีทรอยต์
“พระไพศาล” ชี้ทางออก นอกจากลดความเหลื่อมล้ำทางศก.แล้ว ยังต้องเร่งปลูกฝังคนไทยมีขันติธรรม เคารพในความคิดเห็นที่แตกต่าง ด้านไพบูลย์ เชื่อคน 3 ฝ่ายร่วมพาชาติออกวิกฤตได้ “ดร.มารค ตามไท” เสนอวิธีอยู่ร่วมกันแบบใหม่อย่างมีความสุข
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "ทางออกสังคมไทยหลังวิกฤติ 19 พฤษภาคม" ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกาและเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต (วัดเอราวัณ) จ.ชัยภูมิ, แวัฒนศิริธรรม ที่ปรึกษาสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและอดีตรองนายกรัฐมนตรี, รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ และพล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม ร่วมเสวนา
พระไพศาล กล่าวว่า ตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยติดกับดักความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หรือเหตุการณ์ใหญ่ที่เพิ่งผ่านมา ล้วนมีต้นเหตุความขัดแย้งมาจากความยากจน การบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงการใช้อำนาจรัฐในพื้นที่ที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดจากความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจและสังคมทั่วประเทศ มีกรณีตัวอย่าชัดเจน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ทำให้สังคมไทยต้องตกอยู่ในกับดักความรุนแรงมาตลอด
พระไพศาล กล่าวว่า นอกจากการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นสิ่งจำเป็นต้องเร่งทำแล้ว ยังต้องทำเรื่องวัฒนธรรมที่ฝังในจิตสำนึก ทำให้คนไทยมีขันติธรรม สามารถเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากในสังคมไทยมีสิ่งนี้น้อยมาก อีกทั้งต้องแก้ปัญหาอำนาจนิยมทางศีลธรรม ที่มีการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่ถูกมองว่าเป็นคนผิด สังคมกำลังใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องตัดสินคนโดยใช้ความรุนแรงกระทำกับคนเหล่านั้น ตัวอย่าง เช่น กรณีการวิสามัญฆาตกรรมตัดตอนผู้ค้ายาเสพติด เป็นต้น
"ที่ผ่านมาระบบต่างๆ ล้มเหลว เพราะเราขาดกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี สังคมจะมองคนที่คิดผิดว่า ต้องให้มีสิทธิเป็นศูนย์ ถ้าเราแก้เรื่องนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะออกจากกับดักความรุนแรง และจะเป็นวัฎจักรต่อไป ดังนั้นต้องเปลี่ยนทัศนะ อำนาจนิยมทางศีลธรรม แล้วใช้ปัญญาแก้ปัญหา ดึงการศึกษา ศาสนามาร่วมเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ ทำให้คนไทยได้รู้จักกันมากขึ้น เปิดหน้าต่างแห่งการสร้างความเข้าใจ และสร้างสะพานเชื่อมต่อคนเมืองกับคนชนบทให้รู้จักกัน” ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าว
พระไพศาล กล่าวอีกว่า ขณะนี้สังคมไทยถลำลึกตกในวงจรอุบาทว์ความรุนแรง ซึ่งห่วงว่าสังคมไทยกำลังจะเป็นเหมือนเมืองดีทรอยต์ในสหรัฐอเมริกาที่ผู้คนในบ้านเมืองเกลียดชังกันระหว่างคนขาวกับคนดำ เกิดการเมืองแบบแบ่งเขาแบ่งเรา คนขาวอยู่เมืองชั้นใน คนดำอยู่นอกเมือง ซึ่งทำให้ยากต่อกระบวนการฟื้นฟูบ้านเมืองให้กลับคืนดังเดิม ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันทำการบ้านข้อนี้ทั้งระยะสั้นและยาว ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาเพียงระยะสั้นที่ทำกันอยู่ในขณะนี้อย่างเดียว เราต้องร่วมกันคืนความเป็นมนุษย์กลับมา และอย่าลืมว่า การให้อภัยเป็นยาสามัญประจำใจ ถ้าเรารู้จักให้ก็จะรักษาความเจ็บปวดได้
ขณะที่นายไพบูลย์ กล่าวถึงทางออก มีกลุ่มคน 3 ฝ่ายที่จะช่วยกันได้ คือ ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายภาคนักวิชาการ และฝ่ายภาคประชาชน โดย 1.ดำเนินการกระบวนการเยียวยา 2.ค้นหาตรวจสอบความจริงที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์วิกฤต 3.ช่วยกันปรับปรุงรัฐธรรมนูญ 4.ปฏิรูปสื่อ และ 5.ร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยในทุกๆ ด้าน
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนควรจะร่วมกัน 1.ตั้งคณะกรรมการอิสระภาคประชาชนขึ้นเพื่อติดตามและศึกษามาตรการของรัฐหลังวิกฤตเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมาอย่างสร้างสรรค์ โดยอาจมีนักวิชาการช่วยศึกษาติดตามเชิงลึกด้วยในคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบมาตรการของรัฐอีกทางหนึ่ง 2.ควรมีคณะกรรมการอิสระภาคประชาชนว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีการดำเนินการกันบ้างแล้ว โดยคณะกรรมการฯ ชุดนี้ต้องไม่ใช่เพียงแค่จัดเวทีรับฟังความเห็น แต่ต้องให้ภาคประชาชนได้ร่วมปฏิรูปด้วย และ 3.ควรมีคณะกรรมการร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนเหล่านี้เพื่อพัฒนาและสนับสนุนกระบวนการสันติวิธี รวมถึงอาจมีกองทุนเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและปฏิรูปประเทศด้วย โดยทุนอาจมาจากรัฐ เอกชน ภาคประชาชน
ส่วนฝ่ายรัฐสภา ภาคการเมืองนั้น นายไพบูย์ กล่าวว่า ควรมีคณะกรรมาธิการร่วมกับฝ่ายภาคประชาชนทั้ง 3 ประเด็นควบคู่กัน รัฐสภาควรมีกรรมาธิการว่าด้วยการเยียวยาหาความจริงหลังเหตุการณ์ ควรมีกรรมาธิการด้วยการปฏิรูปประเทศไทย และมีกรรมาธิการว่าด้วยการพัฒนากระบวนการสันติวิธี
"วันนี้วิกฤตยังไม่จบ ยังไม่พ้นวิกฤต เรายังคงอยู่ในวิกฤต เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่ในโครงสร้างระบบราชการ วันนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่ามัวหาทางออก แต่ควรถามตัวเองว่าวันนี้ตัวเราจะทำอะไร จะชวนคนอื่นทำอะไรได้บ้าง เพราะการลงมือกระทำนั้นจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุด และต้องยอมรับว่าภาคการเมือง ภาคราชการ และภาคประชาชนยังไม่พัฒนาไม่พร้อมกันจึงทำให้เกิดปัญหา งูกินหาง "
ด้านรศ.ดร.มารค กล่าวว่า สังคมไทยต้องฉลาดขึ้น และพยายามเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ในอนาคตพยายามพลาดแบบใหม่ ไม่ใช่พลาดแบบเดิมอีก เพราะสังคมแบบเดิมไม่ใช่ความสุขจริงๆ ของคนไทย จนกระทั่งเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำปะทุขึ้น ดังนั้นเราต้องหาวิธีการอยู่ร่วมกันแบบใหม่อย่างมีความสุข
สำหรับทางออก รศ.ดร.มารค กล่าวว่า 1.คนไทยต้องขยายการรับรู้เกี่ยวกับความรู้สึกของคนในสังคมที่เห็นต่าง 2.ต้องสร้างความรู้ใหม่ ใช้องค์ความรู้ที่สะสม ใช้บทเรียนที่ผ่านมาในการแก้ไขหาทางออกสู่อนาคต 3.คนไทยต้องมองให้ไกล สร้างระบบใหม่ในการจัดการปัญหาร่วมกัน และ 4.เปลี่ยนรูปแบบจัดการความคิดการแก้ปัญหาแบบจากบนลงล่าง เสียใหม่ ไม่ใช่มีปัญหาอะไรก็ให้ผู้ใหญ่ช่วยทุกครั้ง
"ขณะนี้มีหลายกลุ่มคนพยายามดึง แกนนำกลุ่มต่างๆ มาระดมแก้ปัญหาเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ห่วงว่าตัวแกนนำนั้นไม่ใช่แทนทุกคนทั้งประเทศได้ ฉะนั้นควรต้องเข้าไปหา ถามความเห็นของคนในทุกที่ด้วย “รศ.ดร.มารค กล่าว และว่า ในอนาคตต้องทำให้เกิดคุณค่าร่วมกันขึ้น (National Value) แม้จะในระยะเวลาชั่วคราวก็ต้องทำเพื่อดึงคนในชาติร่วมกันแก้ปัญหา
ส่วนพล.อ.ไวพจน์ กล่าวถึงผลวิจัยของทีดีอาร์ไอล่าสุดพบว่า ช่องว่างความยากจนยังมีสูงมากซึ่งสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของความพยายามที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเหตุผลหลักเราใช้กรอบคิดแบบเดิมในการแก้ปัญหา ใช้กรอบคิดตามประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นแบบอย่าง เช่น ใช้กรอบคิดที่มุ่งการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจเพื่อการไปสู่การเป็นชาติที่พัฒนาแล้ว จนละเลยด้านอื่นๆ ในสังคม ผลคือ เกิดการกีดกันการเข้าถึงทรัพยากรของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทำให้ค่าจ้างแรงงานจึงถูกกดให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ยากซ้ำซาก ติดอยู่กับกรอบคิดในการพัฒนาประเทศผิดตั้งแต่ต้น
อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติต้องการกรอบคิดแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างสังคมเข้มแข็ง การทำให้ทุกคนทั้งประเทศสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ จากนี้ต่อไปการพัฒนาเศรษฐกิจต้องทำเพื่อให้เกิดสังคมเข้มแข็งต่อกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ ส่วนการพัฒนาการเมืองก็ต้องทำเพื่อให้สังคมเข้มแข้งด้วยเช่นกัน ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำสังคม ฯลฯ