นายกฯ เร่งเดินหน้าแผนปรองดอง “ปฏิรูปปท.ไทย”
วันนี้ (6 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 71 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดให้เป็นวันข้าวและวันชาวนาแห่งชาติว่า กิจกรรมในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดขึ้นมีการกำหนดแนวทางการจัดงานเน้นใน “ความหลากหลายทางชีวภาพ กู้ชีวิตวิกฤตโลก” ซึ่งอยากให้ทุกคนตระหนักในเรื่องของระบบนิเวศน์วิทยา ร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การลดใช้ถุงพลาสติก การระมัดระวังในเรื่องของพฤติกรรมการกิน การใช้ การบริโภค เพื่อลดขยะ รวมถึงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในเรื่องอื่น ๆ โดยเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยกันร่วมกันแก้ปัญหาซึ่งนับวันจะเป็น วิกฤตของโลกได้
สำหรับวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นวันที่คณะรัฐมนตรีได้กำหนดขึ้นเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความตระหนักและตื่นตัวในเรื่องของความสำคัญของข้าวและชาวนา สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำในขณะนี้คือทำให้อาชีพเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนานั้นมีความมั่นคงมีหลักประกัน แนวทางสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการคือการดำเนินโครงการประกันรายได้ เพื่อให้เป็นหลักประกันว่าอย่างน้อยที่สุดพี่น้องเกษตรกรซึ่งมาจดทะเบียน ชาวนาที่มาขึ้นทะเบียนไว้ว่าปลูกข้าวเท่าใดก็จะมีหลักประกันขั้นต่ำว่าจะมีรายได้เท่าใด โดยเป็นโครงการซึ่งที่ดำเนินการมาในรอบที่ 2 แล้ว ซึ่งสามารถทำให้พี่น้องเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลโดยตรงอย่าง ทั่วถึง
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้รัฐบาลกำลังเร่งในเรื่องของการดูแลในเรื่องของการประกันภัยพืชผล เพราะว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งสร้างความไม่แน่นอน ไม่มั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรและพี่น้องชาวนา และเรื่องการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการของชาวนา ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาถึงเรื่องกองทุนเงินออมแห่งชาติ และเรื่องของกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนด้วย
สำหรับความคืบหน้าของแผนการปรองดองนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ซึ่งย้ำว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือใครก็ตาม และย้ำอีกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาบางครั้งมีการพูดเกินเลยไปเสมือนกับว่ารัฐบาลนั้นกำลังที่จะผลักไสไล่ล่าพี่น้องประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง และจะต้องมีการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ชุมนุมในรายละเอียดต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการทาบทามบุคคลที่จะมาเป็นประธาน แต่เนื่องจากว่าการตั้งคณะกรรมการต้องการที่จะให้มีความครบถ้วน ทุกฝ่ายจะต้องให้การยอมรับคณะกรรมการชุดนี้ จึงขอเวลาสักพักหนึ่งในการที่จะไปดูและรวบรวม เพื่อที่จะให้คณะกรรมการชุดนี้ประกอบไปด้วยทุกฝ่ายอย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้วถ้าหากคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมา ไม่ได้รับความเชื่อถือในเรื่องของความตรงไปตรงมา ความเป็นกลาง ก็อาจจะเป็นปมปัญหาในการขัดแย้งต่อไปได้ ในเรื่องนี้รัฐบาลให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับองค์กรอิสระซึ่งจะเข้า มาสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและทางเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความคืบหน้าไปมาก โดยเรื่องนี้มีนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้ทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จากนี้ไปจะมีโครงการในการสำรวจความต้องการของประชาชนเพื่อจัดลำดับความสำคัญ และรับฟังความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการที่จะแก้ไขปัญหานี้ หรือการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะทำหลายรูปแบบ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รูปแบบหนึ่งคือจะมีการทำลักษณะของการสำรวจหรือการสำมะโนความต้องการ ทำเป็นการสำรวจในระดับชาติ ซึ่งตรงนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ควบคู่ไปกับการจัดเวทีคู่ขนานตามเวทีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ขณะนี้การเตรียมการในทั้ง 2 ส่วนนี้เดินหน้าไปมาก และคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะเริ่มต้นกระบวนการนี้อย่างเป็นทางการได้
"ส่วนผู้ที่จะมาเป็นผู้รับผิดชอบดูแลภาพรวมของโครงการนี้ จะให้ทางภาคประชาชนซึ่งได้เริ่มต้นทำงานในเรื่องนี้เป็นผู้เสนอมา ซึ่งตนอยากให้เป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม ผู้หลักผู้ใหญ่ท่านใดเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุน และจะทำหน้าที่ไม่ชี้นำ แต่จะอำนวยความสะดวก แล้วก็ให้กลไกต่าง ๆ ของรัฐบาลนั้นขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางด้านนี้ได้"
ส่วนการปฏิรูปสื่อนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะทำทำงานร่วมกันกับบรรดา องค์กรวิชาชีพสื่อต่าง ๆ โดยมีข้อเสนอเบื้องต้นที่เกี่ยวข้องกับการที่จะทำให้สื่อสารมวลชนมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่ในการใช้เสรีภาพนั้น ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่สร้างความเกลียดชัง และก็ไม่นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงอีก ซึ่งส่วนนี้คณบดีฯ กำลังกลับไปที่จะดำเนินการเพื่อที่จะดูเพิ่มเติมว่าจะวางรูปแบบในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนเช่นเดียวกัน
สำหรับปมปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญและเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้ให้นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ อธิการบดีนิด้า ไปรวบรวมนักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆเพื่อเข้ามาดูในประเด็นนี้
“ผมก็ต้องการที่จะหาทางออกให้กับประเทศที่เหมาะสมที่สุด แต่ระหว่างนี้ครับสิ่งที่สำคัญก็คือว่ารัฐบาลนั้นจะต้องสามารถบริหารบ้าน เมืองเพื่อผลักดันแผนฟื้นฟูและแผนปรองดองให้เป็นรูปธรรมได้”
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับครับว่าแม้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายและความมั่นคงนั้นยังดำรงอยู่ ซึ่งกำลังมีการทบทวนไปในเรื่องของความเหมาะสมในการยกเลิกภาวะฉุกเฉินตาม พื้นที่ต่าง ๆ โดยจะประเมินจากเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ที่จะคอยรายงานมาเป็นระยะ ๆ ว่าเหมาะสมที่จะเลิกเมื่อใด