มธ.มุ่งงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หนุนสร้างสังคมเท่าเทียม
ผศ.ดร.ฐิติพร แนะปรับมุมมอง แม้ชาวบ้านจะไม่ใช่นักวิชาการ - ดอกเตอร์ แต่ความรู้ที่ได้สะสมมา มีไม่น้อยกว่านักวิชาการที่ยึดถือเพียงหลักสูตร ขณะที่นศ.ปริญญาโท สะท้อนภาพ หลังลงพื้นที่จริงสัมผัสชาวบ้าน ฉะการช่วยเหลือยังเป็นเรื่องฉาบฉวย ทำให้ความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ ยังมีอยู่
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” มีการนำเสนอผลงานวิจัย จากนักศึกษาสังคมสงเคราะห์ ระดับปริญญาโท เรื่อง “การเสริมสร้างพลังร่วมเพื่อพัฒนาตนเองในการเป็น นักศึกษาสังคมสงเคราะห์ ระดับปริญญาโท” และ “การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ด้วยกระบวนการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนแดงบุหงา”
ผศ.ดร.ฐิติพร ศิริพันธ์ พันธเสน อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวถึงการวิจัยแบบมีส่วนร่วม (การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR) เป็นการวิจัยด้วยความมุ่งมั่นที่เชื่อว่า นักวิจัยและนักปฏิบัติงานทางด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม จะต้องยืนอยู่บนวิธีคิด และบทบาทของสังคม บนฐานวิชาชีพ นั่นคือ การปฏิบัติเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม
“การมุ่งศึกษาวิจัยทางสังคมสงเคราะห์ มีเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ ที่ไม่เพียงผลิตบัณฑิตและงานวิจัยที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค หรือวิธีวิทยาเท่านั้น แต่สอนให้เข้าใจโลกและสังคม เรื่องความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำ รวมทั้งใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือในการร่วมทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน ดังนั้น จึงผิดจากวิจัยประเพณีที่เพียงเดินหาข้อมูล ที่บางครั้งผู้วิจัยจะเป็นผู้ที่ได้ฝ่ายเดียว และชาวบ้านเสียประโยชน์ นอกจากนั้น งานวิจัยแบบนี้ ยังตรงกับปรัชญาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ คือ การช่วยเสริมหนุนกันและกัน ให้ผู้คนในสังคม มีพลังพัฒนา ซึ่งต้องเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วิธีการคิดและวิธีวิจัย”
ผศ.ดร.ฐิติพร กล่าวถึงการให้นักศึกษาวางแผนแนวคิด ออกแบบการวิจัย เริ่มจากให้มีอุดมการณ์ที่ต้องแตกต่าง เน้นย้ำให้รู้จักตนเอง ไตร่ตรอง ก่อนที่จะไปช่วยเหลือและเยียวยาผู้อื่น เน้นเทคนิคเบื้องต้น คือ การฟังอย่างตั้งใจ ในฐานะนักพัฒนา เริ่มศึกษาปัญหาจากตนเอง ก่อนไปศึกษาและลงมือปฏิบัติจริงในชุมชน
“เริ่มจากตั้งต้นว่า ทุกคนสามารถเป็นนักวิจัยได้ และสร้างความรู้ได้เอง โดยหลักการง่ายๆ ช่วยให้ชุมชนเป็นคนคิดโจทย์ สร้างองค์ความรู้ที่มาจากชุมชน แล้วผู้วิจัยลงไปฝังตัวในชุมชน เพื่อทำการศึกษา หลังจากนั้นจะได้ประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน เกิดแนวคิด การทดลองแก้ปัญหา ท้ายที่สุดเกิดเป็นพลังในชุมชนให้สามารถจัดการปัญหาต่างๆ”
อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวอีกว่า คำว่า มีส่วนร่วมอาจจะเป็นคำธรรมดา แต่ผู้วิจัยศึกษาทุกคนจะต้องมีการเสริมพลังตนเองและเสริมแก่ผู้ที่ทำงานด้วยกัน ในหลักการ ความเท่าเทียม ซึ่งจัดเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยแนวลึก เคารพในความหลากหลาย จะปฏิบัติอย่างเร่งด่วนไม่ได้ โดยจะต้องให้ชาวบ้านสนุกในกระบวนคิดไปด้วย
“เมื่อเกิดกระบวนการร่วมมือ และเข้าใจในบริบทในชุมชน ชาวบ้านจะย้อนกลับมาไตร่ตรอง ทำให้กล้าคิด กล้าพูดในสิ่งที่เดือดร้อน กลายเป็นตัวแทนของตนเอง ดังนั้น การเคารพกันไม่ใช่ว่ามีตำแหน่งสูง แต่ต้องเคารพกันในความคิด ทุกคนสามารถเคารพคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปีได้ เพราะการเคารพกัน นั่นก็คือ หลักการประชาธิปไตยที่เป็นพื้นฐาน เป็นต้นรากในการแก้ปัญหาสังคมในเวลานี้ แม้ว่าชาวบ้านอาจไม่ใช่นักวิชาการ หรือดอกเตอร์ แต่ความรู้ของชาวบ้านที่สะสมอยู่ในชุมนุมจะมีมากกว่าการลงไปศึกษาจากนักวิชาการแต่เพียงในหลักสูตร”
ด้านนางสาวทัชชา สิงหทะแสน นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การลงมือปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างพลัง แต่ละคนมีความแตกต่าง มีความขัดแย้ง ซึ่งต้องมาแลกเปลี่ยน และเกิดเป็นปลูกจิตสำนึก จิตวิญญาณ สร้างความรู้ ความเข้าใจ จนเกิดสิ่งที่เปลี่ยนไป และเห็นปัญหาในสังคมได้อย่างหลากหลายขึ้น
“การแก้ปัญหา การเรียนรู้ไม่ได้มาจากตนเองได้ทั้งหมด แต่พลังส่วนร่วมจะช่วยก่อให้เกิดการเสริมสร้างพลังอันเข้มแข็ง การเรียนรู้จากผู้อื่น จากผู้ที่ด้อยกว่า และเหนือกว่า ทำให้เรียนรู้ว่าสังคมมีสิ่งที่หลากหลาย แต่หากทุกคนรวมพลัง ในความคิดแตกต่าง ยอมรับความคิดเห็น จะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปได้ง่าย เพียงการเสวนาหาทางออกของนักวิชาการเพียงภายในห้องสี่เหลี่ยม อาจช่วยได้ในเพียงทฤษฎี แต่การปฏิบัติจริง การลงพื้นที่จริง และรับรู้เรื่องเดือดร้อนของคนอื่นเป็นเรื่องของตนเอง แก้ปัญหาไปพร้อมๆกัน จะทำให้ทุกอย่างในสังคมก็จะมีความสุข”
สำหรับการลงพื้นที่วิจัยในชุมชนแดงบุหงา ( เพชรบุรี ซอย 7 ) นางสาววิชชุดา เฉลิมวงค์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. 1 ในทีมผู้วิจัย กล่าวว่า ผลที่ได้จากการลงสำรวจ ได้พบถึงปัญหาของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ทั้งในเรื่องของความยากจนในเมืองหลวง ความเป็นอยู่ในสถานการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่ส่งผลกระทบต่อทางด้านเศรษฐกิจในชุมชน และสัมพันธภาพของคนในชุมชน ไม่เพียงศึกษาจากรายงานจากสถาบันต่างๆ
“สิ่งที่พบมากกว่านั้น อาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย เช่น การซื้อ-ขาย ผลไม้ ที่ลดลง ทำให้รายได้ของชาวบ้านเปลี่ยนไป ,การเปิดร้านอาหาร การดำเนินชีวิต หลังเกิดการชุมนุมได้รับผลกระทบ ซึ่งการลงไปในพื้นที่จริงๆ ทำให้ได้รู้ท่ามกลางความเจริญ มีคนยากจนซ่อนอยู่มาก โดยหากใช้การสำรวจเพียงเพียงการสัมภาษณ์ และการเก็บข้อมูลจากเอกสารยังคงไม่เพียงพอ แต่สิ่งที่จะช่วยได้อย่างแท้จริง คือ การเข้าไปแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้าน จะพบเห็นสิ่งที่เดือดร้อน และกลายเป็นการช่วยจัดการปัญหาที่ชาวบ้านต้องการ”
นางสาววิชชุดา กล่าวด้วยว่า หากผู้วิจัยไม่ลงไปสัมผัสชาวบ้าน เอาใจเขาไปใส่ใจเรา จะมองไม่เห็นความแตกต่างในสังคม การช่วยเหลือก็จะเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย ในบางครั้งชาวบ้านหวาดกลัวหน่วยงานราชการและให้ข้อมูลที่บิดเบือน ทำให้ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ก็ยังมีอยู่ ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนวิธีคิด วิธีช่วยเหลือ สิ่งต่างๆในสังคมก็จะได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์