สกว.ชูงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม สร้างกระบวนการเข้มแข็งให้ชุมชน
ผอ.สกว.หวังการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ทำให้มองเห็นมิติปัญหาทางสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย ไม่ติดอยู่เฉพาะปัญหาทางการเมืองที่สร้างความรุนแรง ด้านดร.ม.ร.ว.อคิน ระบุ งานวิจัยแบบนี้ ทำให้รู้ความคิด จิตใจความเป็นมาของปัญหาที่เกิดขึ้น อะไรทำให้เกิดความปวดร้าว เคียดแค้น ยันหาไม่ได้จากงานวิจัยทางสถิติ
วานนี้ (26 พ.ค.) ศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง "ภูมิวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้" จัดโดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ พร้อมเปิดตัว หนังสือจากงานวิจัยชุด "การศึกษาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม" จำนวน 4 เล่ม เรื่อง เล่าขานตำนานใต้,ความทรงจำในอ่าวปัตตานี,ยาลอเป็นยะลา และเรื่องเล่าจากหมู่บ้านเชิงเขาบูโด กรณีบ้านตะโหนด ซึ่งหนังสือทั้ง 4 เล่มนี้ ปรุงมาจากรายงานของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อศึกษาท้องถิ่นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งสกว. ให้การสนับสนุน
ศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าวถึงภารกิจของ สกว.ว่า นอกจากสนับสนุนเรื่องการวิจัยแล้ว ยังมีภารกิจสื่อสารผลงานวิจัย รูปแบบงานวิจัยต่างๆ ออกสู่สังคมเพื่อให้นำไปต่อยอดจากสิ่งที่ได้ศึกษาวิจัยมา โดยเฉพาะงาน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของสกว. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและคลี่คลายปัญหาต่างๆ ในจังหวัดภาคใต้
“หลายโครงการมีการสนับสนุนให้คนในพื้นที่ทำวิจัยด้วยตัวเอง โดยใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะท้อนปัญหา ความรู้สึกนึกคิด วิธีคิด จารีตประเพณี และประวัติศาสตร์ แก้ปัญหาให้ได้ตรงจุดของคนในพื้นที่”ศ.ดร.สวัสดิ์ กล่าวและว่า งานวิจัยท้องถิ่น ถือเป็นงานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นคนตั้งโจทย์ หาข้อมูล และนำมาสังเคราะห์ โดยจะมีพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยแนะนำ ซึ่งงานวิจัยในลักษณะนี้มีทุกภาค แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด ทั้งนี้ยังมีโครงการวิจัยอื่นๆของ 3 จังหวัดภาคใต้หลายโครงการ มีรูปแบบลงไปถึงระดับชาวบ้าน ซึ่งสกว.ก็หวังและสื่อไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะทหารพยายามให้เขารับรู้สิ่งที่เราทำ หวังว่าจะเกิดผล มองเห็นมิติปัญหาทางสังคม วัฒนธรรมที่หลากหลาย
ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมว่า สิ่งเกิดขึ้นได้สร้างชุมชนให้มีความเข้มแข็งสร้างวิธีคิดให้ชาวบ้าน จนสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหา ตอบโจทย์เองได้ ชาวบ้านเกิดปัญญา เกิดความเข้มแข็งในชุมชน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเราทำได้แค่ส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ
ขณะที่ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท กล่าวถึงงานวิจัยเชิงปริมาณกับงานวิจัยเชิงคุณภาพ ว่า งานวิจัยเชิงปริมาณจะใช้แบบสอบถาม ทำออกมาเป็นสถิติ แตกต่างกันกับการทำวิจัยแบบที่นักมานุษยวิทยาทำ เข้าไปศึกษา ใกล้ชิด พยายามเข้าใจคนในท้องถิ่น ซึ่งแบบหลังนี้ทำยาก
“งานวิจัยแบบที่ให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยร่วม ร่วมทำ เป็นเรื่องน่าสนใจ ผู้มีความรู้อาจคิดว่าไม่ใช่งานวิจัย มองว่า คนทำไม่ได้จบปริญญา แต่จริงๆ ก็คืองานวิจัย ตรงนี้ชาวบ้านที่เป็นนักวิจัยร่วม รู้ดีกว่า เข้าไปถามคนในพื้นที่ รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทำให้งานวิจัยออกมาดี และยังทำให้รู้ความคิดของชาวบ้านจริงๆ สุดท้ายไปส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นตัวของตัวเอง เข้าใจสภาพชุมชน คิดแก้ปัญหา พัฒนาตัวเองได้”
ส่วนกรณีการจะสร้างความปรองดองในประเทศนั้น ดร.ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า งานวิจัยแบบนี้จะช่วยให้สังคมหาคำตอบได้ หากรัฐเอาไปใช้ ในการวางแผนแก้ไขจริงๆ โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ สำหรับประเทศ หากเราทำวิจัยให้ได้ความรู้สึกของชาวบ้าน ไม่ใช่เอาแต่สถิติ โดยเราต้องเข้าใจคนว่า คนมีความรู้สึกอย่างไร อะไรทำให้เกิดความเคียดแค้น ความปวดร้าว ซึ่งหาไม่ได้จากงานวิจัยทางสถิติ
“งานวิจัยแบบนี้ การทำงานแบบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทำให้รู้ความคิด จิตใจความเป็นมาของปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีองค์กรประชาชน หรือที่กำลังพูดถึงสภาประชาชน มาคอยผลักดันด้วย นำปัญหาและความรู้สึกของชาวบ้านจริงๆ ขึ้นมาและผลักดัน ให้รัฐบาลต้องทำเยียวยาความเดือดร้อนของคน ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง”