กระบวนการฟื้นฟูชาติหลังเหตุจลาจล ต้องเป็น ‘วาระประเทศไทย’
‘ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม’ ย้ำหลังวิกฤตมองให้เป็นโอกาส ดึงคนไทยร่วมคิด-ปรับปรุงประเทศพร้อมกัน ทั้งระดับชาติ-จังหวัด-ตำบล ไม่แยกใครออกจากกระบวนการ พร้อมเสนอกระบวนการเยียวยา-ฟื้นฟูจิตใจสังคม-ปฏิรูปประเทศ ให้ยึด 3 องค์ประกอบเพื่อหาข้อตกลงแก้ความขัดแย้งด้วยสันติ
วันนี้ (24 พ.ค.) นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยถึงแนวทางการร่วมฟื้นฟูประเทศไทย ภายหลังเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า แนวทางการฟื้นฟูประเทศควรต้องผลักให้เป็น วาระประเทศไทย มองให้เป็นโอกาสที่ทำให้คนไทยได้เรียนรู้ ตื่นตัวมากขึ้น ในการร่วมที่จะทำ ร่วมคิด ร่วมปรับปรุง สิ่งที่ดี ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ถ้าทำไปเรื่อยๆ ทุกคนได้ร่วมปฏิบัติร่วมกันก็จะทำให้เกิดจิตสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป จิตสำนึกจะเกิดจากการกระทำ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การฟื้นฟูประเทศไทยควรแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก คือ 1.การเยียวยา ความเสียหายที่เกิดขึ้น 2.ฟื้นฟูจิตใจและบรรยากาศในสังคม และ 3.การปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องมีร่วมมือกันใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับประเทศที่ต้องขับเคลื่อนทั้งสามหมวดนี้, ระดับจังหวัด โดยใช้จังหวัดเป็นตัวตั้งในการร่วมเยียวยา ฟื้นฟู และปฏิรูปประเทศเริ่มจากพื้นที่ในแต่ละจังหวัดร่วมกัน และระดับตำบล ดึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาชุมชน หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน องค์กรทางศาสนา สถาบันวิชาการ โรงเรียน สื่อ เป็นต้น ซึ่งทั้งสามระดับนี้ต้องมีกระบวนการสำคัญอยู่ที่การแก้ความขัดแย้งด้วยหลักสันติวิธี
อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า กระบวนการฟื้นฟู ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.มีกระบวนการที่ชัดเจน มีการพูดคุย มีคนกลาง มีขั้นตอนรายละเอียด 2.มีทัศนคติ อารมณ์ และความรู้สึกที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการฟื้นฟูและหาทางออก เชื่อว่าหากมีกระบวนการจัดการที่ดีก็จะช่วยทำให้เกิดเหล่านี้ได้ และ 3.ต้องมีสาระที่สร้างสรรค์ในกระบวนการ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงในหลายมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว
“ที่สำคัญต้องเป็นกระบวนการที่ทุกคน ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ไม่มีการแยกใครออกจากกระบวนการ ดึงทุกคนให้เข้ามามากที่สุด และต้องไม่คิดเพียงเรื่องผิด ถูก หรือเรื่องดี หรือเลว ซึ่งในส่วนของกระบวนการยุติธรรมก็ต้องดำเนินไป แต่ทางจิตใจนั้น อย่าถืออาฆาต เคียดแค้น พยาบาท ต้องให้อภัยกันเท่าที่จะทำได้ ให้ความรักและความเมตตาต่อกัน ไม่ใช่เพียงมาชี้หน้าด่ากัน”
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศน่าจะมาร่วมประชุมกันทำความเข้าใจร่วมกันก่อน อย่างเช่น กรณี 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย ควรเข้าไปร่วมเอื้ออำนวย สนับสนุนดึงทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ซึ่งไม่ใช่เข้าไปเป็นพระเอก เพราะแกนกลางควรต้องให้ภาคประชาชนเป็นพระเอก เป็นเจ้าของเรื่อง ร่วมกำหนดประเด็น ร่วมพูดคุยว่าจะฟื้นฟู เยียวยา ปฏิรูปในประเด็นของจังหวัดตัวเองอย่างไรบ้างและในระดับตำบลก็เช่นเดียวกันที่ควรทำให้เกิดมากกว่าที่เพียงพูดกันในระดับชาติ รวมทั้งในระดับชาติทุกคนก็ร่วมกันไม่มีใครเป็นพระเอกคนเดียว กระบวนการทั้งหมดต้องทำและเรียนรู้ประเมินผลไปเรื่อยๆ ทุก 3-6 เดือน ทำไปเรื่อยๆ