จลาจลกลางกรุง เวที ‘สมัชชาปชช.ปฏิรูปประเทศไทย’ เลื่อนไม่มีกำหนด
กรณีที่ทางรัฐบาลเตรียมจะจัดเวทีการประชุมสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ ที่อิมแพ็คเมืองทองธานีเพื่อระดมความคิดเห็นในประเด็นปัญหาของชาวบ้าน ข้อเสนอ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศไทยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามแผนปรองดองนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและ ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เวทีระดมความคิดเห็น "สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย" ขณะนี้ทางเครือข่ายความร่วมมือองค์กรภาคประชาชนมีความเห็นร่วมกันให้เลื่อนกำหนดการจัดงานออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากสถานการณ์ความวุ่นวายในขณะนี้ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการเดินทางของประชาชนทั่วประเทศที่จะเข้าร่วม
ประธานคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า แผนงานต่อไปของการขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสภาประชาชนนั้น จากนี้ทางสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ช่วยเข้าไปหนุนเสริมการทำงานของเครือข่ายประชาชนในระดับจังหวัด ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แบ่งเป็น 19 กลุ่มจังหวัดที่มีความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ เพื่อดำเนินการนำผลข้อเสนอของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมาไปขยายประเด็น ขยายผลดำเนินการต่อในระดับกลุ่มจังหวัด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และหลังจากนั้นจะนำมาประมวลในภาพใหญ่ของสมัชชาประชาชนอีกครั้ง
“ช่วงสถานการณ์เวลานี้ต้องเลื่อนงานออกไปก่อน เนื่องจากต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้าเร่งด่วนก่อน อย่างไรก็ตามแม้เวทีจะเลื่อนแต่กลุ่มคนที่ทำงานเรื่องนี้ก็ดำเนินการอยู่เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ด้วย”
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ได้มีข้อสรุปและข้อเสนอเมื่อวันที่ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมายื่นต่อรัฐบาล คือ ให้แนวคิดหลักการปฏิรูปประเทศเน้นการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยให้มีองค์ประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงกันอย่างน้อย 6 ส่วน ได้แก่ 1.การลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมทางสังคม และการเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาและสร้างรายได้ โดยมุ่งที่ 1) คนจนรายได้ จนโอกาส และ จนสิทธิ 2) พื้นที่ที่มีศักยภาพและภาระที่แตกต่างกัน 2.การสร้างกลไกการปฏิรูป เพื่อขับเคลื่อนให้แนวคิดการคืนอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นได้
3.การปฏิรูประบบนโยบาย แผน และ งบประมาณ เพื่อสนับสนุนการจัดขบวนของชุมชนท้องถิ่น 4.การปฏิรูประบบกฎหมายและความยุติธรรม อันเป็นคานงัดของการปรับบทบาท 5.การปฏิรูประบบการสื่อสารและการเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพคน ผู้นำและองค์กรชุมชนท้องถิ่น และ 6.การปฏิรูประบบการป้องกันการทุจริต ที่เป็นการส่งเสริมการทำบทบาทของหน่วยงานรัฐ องค์กรพัฒนาสาธารณะประโยชน์ องค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้มีข้อเสนอกลไกปฏิรูประเทศไทย โดยให้รัฐบาลสนับสนุน “กลไกภาคประชาชน” ใน 2 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด และ ระดับชาติ ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประเทศจากฐานชุมชนท้องถิ่นและมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทั้งสองกลไกดำเนินงานในช่วงเวลาเดียวกันและทำงานหนุนเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการเบื้องต้นอย่างน้อย 3 ปี