เร่งรวมปัญหาชาติ-ทางออก เสนอเวที ‘สมัชชาปชช.ปฏิรูปประเทศไทย’ 20 พ.ค.นี้
ภาคประชาสังคม 106 องค์กร ระดมสมองร่วมถกทางแก้ปัญหาชาติ เตรียมเสนอตั้ง ‘สภาปชช.ปฏิรูปปท.ไทย’ แก้ความเหลื่อมล้ำ ‘นพ.นิรันดร์’ มั่นใจสภาปชช.ฯ ทางออกสังคม รวมข้อเสนอยื่นเวทีสมัชชา ปชช.ฯ ย้ำพันธกิจไม่สร้างภาพการทำงาน-ไม่ขึ้นต่อรบ. ชี้ถึงเวลาสร้างรอยต่อรัฐ-ปชช. ส่วน ‘พระไพศาล’ ระบุปฏิรูปปท.ไม่มีพลัง ถ้ายังฆ่ากันอยู่
วันนี้ (16 พ.ค.) ณ ห้องประชุมใหญ่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชน 106 องค์กรทั่วประเทศร่วมประชุมเตรียมการ “สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย” ตลอดทั้งวันเพื่อพยายามหาความชัดเจนของรูปแบบและกลไกการดำเนินงานของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคม
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะแกนนำเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนทั้ง 106 องค์กร กล่าวถึงภาพรวมการประชุมว่า เครือข่ายได้ร่วมหาทางออกให้สถานการณ์ปัจจุบัน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อต้านการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสียและการละเมิดสิทธิของผู้อื่นในนาม 106 องค์กรภาคประชาชนเพื่อเสนอต่อรัฐบาลและนปช. 2.หารือแนวทางการทำงานของสภาประชาชนฯ มีการเสนอปัญหาและทางแก้ไขต่างๆ เพิ่มเติมจากทุกครั้งที่ผ่านมา โดยจะรวบรวมเสนอต่อเวทีสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยในวันที่ 20 พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,400 คนจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำประเด็นเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องนำไปร่วมถกขยายผลต่อไปในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว
"และ 3.โครงสร้างการทำงานของสภาประชาชน ที่แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติในตัวบุคคล แต่ก็ได้ความชัดเจนของข้อมูลที่จะนำเสนอในเวทีสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทยบ้างแล้ว คือ เสนอให้มีคณะทำงานประสานงานสำหรับสภาประชาชนที่ไม่เน้นความเป็นผู้นำขององค์กร เน้นการทำงานซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในระยะยาวและต่อเนื่อง, เห็นควรให้มีสำนักงานทำการของคณะทำงานนี้ให้เป็นระบบ เนื่องจากการขับเคลื่อนงานนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-10 ปี และเสนอให้คณะทำงานต้องสะท้อนคนทำงานในพื้นที่อย่างแท้จริงในทุกประเด็นปัญหา ทุกพื้นที่ในลักษณะกรรมาธิการภาคประชาชน โดยไม่ควรมีการตั้งประธานคณะ เพราะทุกคนเป็นประธานร่วมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของสภานี้ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกฝ่ายที่เป็นตัวจริงของการทำงานในพื้นที่"
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เราต้องการให้สภาประชาชนนี้มีการทำงานโดยอิสระจากรัฐบาล ไม่ต้องการทำงานสร้างภาพหรือเป็นเรื่องที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาล แต่ต้องการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ภาคการเมืองที่จะมีส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน และสร้างความเป็นธรรมในสังคม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดต่อไป รัฐสภา พรรคการเมืองด้วย ดังนั้นภาคการเมืองและข้าราชการต้องเข้ามารับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง ต้องทำให้ประชาธิปไตยทางตรงเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน
"วันนี้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนของเราล้มเหลว ไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างประโยชน์ให้ประชาชนได้ การแก้ปัญหาการชุมชุมทางการเมืองต้องเกิดรูปธรรมที่มากกว่านี้ และเวทีสมัชชาฯที่จะมาถึงต้องไม่ใช่แค่เวทีพูดแค่ปัญหาแล้วต้องมีทางออกด้วย ถึงแม้ความเห็นจะยังแตกต่างและหลากหลายก็ต้องพยายามแสวงจุดร่วมและสงวนจุดต่างไว้"
แกนนำเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนฯ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนงานนี้จะใช้คณะทำงานจาก 3 ส่วนหลัก คือ ภาคประชาสังคมที่ร่วมกันผลักในขณะนี้ ภาคนักวิชาการที่จะมาช่วยสังเคราะห์ประเด็นเนื้อหาในเชิงระบบ และภาคสื่อมวลชนที่ช่วยสื่อสารเรื่องนี้ สิ่งที่เสนอในวันนี้ล้วนเป็นของจริงที่เป็นรูปธรรมทั้งปัญหาและการแก้ไข เช่น ปัญหาโฉนดชุมชนที่ถูกตั้งคำถามถึงความล่าช้า ปัญหาที่ดินทำกิน หนี้สินเกษตรกร ประมงพื้นฐานซึ่งเสนอให้แก้การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรม ฯลฯ เหล่านี้เป็นของจริงที่รัฐบาลและบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องนำไปทำให้เกิดผลและต้องบอกให้ประชาชนรู้ด้วย สำหรับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชนและภาคการศึกษานั้นขณะนี้มีแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นประเด็นอีกว่าเครือข่ายคณะทำงานจะดึงความร่วมมือนี้ในวงกว้างต่อได้อย่างไร
“รูปธรรมของการแก้ไขปัญหาขณะนี้ภาคประชาชนได้ตื่นตัวขึ้นมาแล้ว ซึ่งถ้ามีพื้นที่ให้ประชาชนได้ยืนอย่างเป็นระบบและรัฐบาลก็ยอมรับที่จะสร้างรอยต่อของหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาชน ตรงนี้ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ คือ เป็นประชาธิปไตยที่สามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ ซึ่งคนทุกสี ทุกฝ่ายก็สามารถเข้ามาตรงนี้ได้”
ด้านพระไพศาล วิสาโล ประธานเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า ให้ทุกคนมองกันว่าอย่างน้อยก็เป็นคนไทยด้วยกัน แม้จะไม่ใช่สีที่ชอบ ฝ่ายที่ชอบ อยากให้คนไทยเข้าใจกัน อย่าปล่อยให้ความโกรธ เกลียด เคียดแค้น พยาบาทมากัดกินหัวใจเพื่อความสะใจเท่านั้น หรือมาครอบงำความเป็นมนุษย์ในจิตใจของเราทุกคน และอย่าให้เสียงปืนดังกลบเสียงแห่งสันติภาพได้
“เราคงจะปฏิรูปประเทศไทยไม่ได้ หากสังคมไทยยังเต็มไปด้วยความโกรธ เกลียด พยาบาทอยู่ ถ้าในใจเรายังคงมีความโกรธ เกลียดเหล่านี้อยู่ก็คงจะเกิดพลังในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงไม่ได้ การปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าบ้านเมืองยังโกรธ เกลียด และสะใจอยู่กับเหตุการณ์สงครามการเมืองแบบนี้ ยังอยู่ในสภาพเช่นนี้ ดังนั้นเวทีสภานี้ควรช่วยกันหาทางออกในเหตุการณ์ขณะนี้ให้หยุดฆ่ากันก่อน”
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตลอดทั้งวันที่ประชุมยังคงมีข้อเสนอที่หลากหลายและแตกต่างจำนวนมาก ซึ่งต้องรอการประชุมย่อยเพื่อประมวลข้อเสนอและแนวทางต่างๆ อีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. หลังการประชุมใหญ่ในงานสมัชชาประชาชนเพื่อปฏิรูปประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 พ.ค. ที่อิมแพ็คเมืองทองธานีอีกครั้ง
สำหรับแนวทางที่ชัดเจนของความพยายามก่อตั้งสภาประชาชนฯ และตลอดทั้งวันที่ประชุมมีเสียงสะท้อนจากองค์กรบางส่วนที่น่าสนใจ เช่น เสนอให้การทำงานของสภาประชาชนฯ ควรมุ่งเน้นภารกิจการปฏิรูปจิตสำนึกคนไทยใหม่เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและเพื่อให้ตระหนักถึงวาระปฏิรูปประเทศไทยร่วมกันอย่างจริงจังและกว้างขวาง, ให้มีการปฏิรูประบบสื่อสารมวลชน โดยเรียกร้องขอพื้นที่สำหรับสภาประชาชนฯ เพื่อสื่อสารกับคนทั้งประเทศผ่านทางสถานีโทรทัศน์อย่างน้อง 1 ช่องประจำ, เสนอให้สภาประชาชนฯ ต้องเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย โดยไม่ใช่เครื่องมือของรัฐบาล แต่สภานี้ต้องใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เป็นต้น
ส่วนสถานการณ์การชุมนุมและมีการใช้ความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ ที่ประชุมได้มีมติเสนอให้ยุติความรุนแรงว่า 1.ให้ทั้งสองฝ่าย คือ กลุ่มนปช.และรัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบแก่กัน พร้อมตั้งคณะกรรมการกลาง เข้าตรวจอาวุธในบริเวณชุมนุม 2.เสนอให้มีการเปิดพื้นที่สีขาว หรือเขตอภัยทานให้แก่ผู้ชุมนุมที่ไม่ประสงค์ความรุนแรง โดยเฉพาะเด็ก และผู้หญิง เช่นเดียวกับกรณีของวัดปทุมวนาราม 3.กลุ่มนปช.และรัฐบาลต้องเจรจากันอย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 7 วันหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายสงบลง โดยต้องมีคนกลางคอยกำกับ และ 4.ให้มีอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมที่ไม่ประสงค์ในพื้นที่สีขาวด้วย
ทั้งนี้มีองค์กรภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่ร่วมก่อการสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เช่น กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch),คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช), คณะกรรมการ รณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.),เครือข่ายการศึกษาทางเลือก, เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย,เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.),เครือข่ายเยาวชน (YPD), เครือข่ายเยาวชนสิทธิมนุษยชน (YPHR),เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN), เครือข่ายป่าชุมชน,เครือข่ายพุทธิกา,เครือข่ายสันติวิธี, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า,ชุมนุมสหพันธ์สหกรณ์ภาคอีสาน,กลุ่มภูมิพลังเอดีพี(ADP), มูลนิธิชุมชนไท,มูลนิธิเพื่อการพัฒนาวิทยุชุมชนไทย,มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,มูลนิธิสุขภาพไทย,มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.),สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย,สมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย,สมัชชาสภาองค์กรชุมชน กรุงเทพมหานคร,สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย,เสมสิกขาลัย,สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ,เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคกลาง 26 จังหวัด,สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ,เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ,มูลนิธิประชาสังคม,สหพันธ์เกษตรกรเพื่อการพัฒนาภาคกลาง,สถาบันจัดการทางสังคม (สจส.) เป็นต้น