แนะใช้นโยบายเชิงจุลภาค ปลดล็อคปัญหาความยากจน
อาจารย์เศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปรียบการยัดเงินใส่มือ ปชช.โดยตรง เหมือนปั๊มหัวใจให้เลือดลมสูบฉีด พอเงินหมดก็กลับไปจนเหมือนเดิม ส่วนการยัดเงินทางอ้อม ทั้งการยกเลิกหนี้-พักชำระนี้ เป็นแค่การผลักปัญหาให้ไกลตัวออกไปชั่วคราว
นายเกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม จนนำมาสู่ปัญหาความความขัดแย้งในบ้านเมืองว่า กรณีแกนนำเสื้อแดงยกประเด็นความสัมพันธ์ “อำมาตย์-ไพร่” ขึ้นมาเพื่อปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมการชุมนุม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแกนนำบางคนมีความเป็น “ซ้าย” แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ความไม่เท่าเทียมกันยังคงมีอยู่ แม้ว่าช่วง 20 ปีมานี้สัดส่วนของคนจนจะลดลงถึงเกือบ 3 เท่า ซึ่งทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนจนในยุคนี้ ดีกว่าคนจนเมื่อ 20 ปีก่อน และหากดูด้านการกระจายรายได้แล้ว ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลย แสดงให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและจริงจัง
“หากกางแผนที่ประเทศไทยออกมาดู คนจนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนมากอยู่ในชนบท เป็นผู้ทำการเกษตร รับจ้างทำงาน หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางและนายจ้าง ขาดการเหลียวแลอย่างจริงจังจากภาครัฐ ขาดความมั่นคงชีวิต ความรู้สึกเช่นนี้ถูกเก็บกดมานานแล้ว เพียงแต่รอเวลาที่จะปะทุออกมา” อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว และว่า การเคลื่อนไหวของเสื้อแดงส่วนหนึ่งก็เพื่อหวังผลทางการเมือง แต่คนที่เข้าร่วมจำนวนไม่น้อย ก็ต้องการจะแสดงออกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองเพียงฝ่ายเดียว
เมื่อถามถึงนโยบายภาษีที่ดินของรัฐบาลชุดนี้ นายเกียรติอนันต์ กล่าวว่า นโยบายภาษีที่ดิน หรือนโยบายอื่นๆ ที่นำเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน หรือเรียกว่า “นโยบายโรบินฮู้ด” นั้น จะเกิดผลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ต่อเมื่อรัฐมีแผนการใช้จ่ายที่ชัดเจนตั้งแต่แรก ว่าจะนำเม็ดเงินเหล่านี้ไปแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันอย่างไร หากนำเงินนี้มาใช้จ่ายตามแนวคิดของการกระตุ้นเศรษฐกิจของนักเศรษฐศาสตร์มหภาคที่เน้นการลงทุนในภาครัฐ และการกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการยัดเงินใส่มือของประชาชนโดยตรง ทำอย่างไรก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหาได้ เพราะการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลงทุนภาครัฐนั้น คนที่สามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้ได้ ก็คือคนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ยกตัวอย่างกรณีที่รัฐบาลเอาเงินไปสร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ว่า คนที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ คือ ผู้รับเหมา พ่อค้าคนกลาง และเกษตรกรที่พอจะมีฐานะ มีรถเป็นของตัวเอง แต่สำหรับคนจน ที่ต้องเช่าที่ดินทำนา หรือเอาที่ดินไปจำนองเพื่อนำเมล็ดพันธุ์มาเพาะปลูก การลงทุนสร้างถนน แทบไม่ได้ทำให้หมดหนี้ ไม่ได้ช่วยให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ในทันที กลับกันชีวิตยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความเสียเปรียบเหมือนเดิม
“การยัดเงินใส่มือของประชาชนโดยตรง เหมือนกับการปั๊มหัวใจ เพื่อให้เลือดลมสูบฉีด จะได้ค่อยๆ ฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงขึ้นมา แต่นโยบายในปัจจุบัน การให้เงินช่วยเหลือ ไม่ได้ทำควบคู่กับการสร้างความสามารถในการหารายได้ในระยะยาวให้กับคนจน ดังนั้น เมื่อเงินหมดลง ก็กลับไปจนเหมือนเดิม” นายเกียรติอนันต์ กล่าว และ ว่า หากเป็นการยัดเงินทางอ้อม เช่น การยกเลิกหนี้ หรือการพักชำระนี้ ก็ เป็นแค่การผลักปัญหาให้ไกลตัวออกไปชั่วคราว พอหมดเวลา รัฐก็ต้องมาตัดสินใจว่า จะช่วยต่อหรือไม่ ถ้าไม่ช่วยก็เสียคะแนนนิยม ถ้าช่วยเท่ากับการนำคนไทยทุกคนมาแบกรับภาระนี้ ถ้าคนจนที่เป็นหนี้รู้ว่า อย่างไรเสียรัฐบาลก็จะเข้ามาอุ้มแน่ เขาก็ไม่กลัวที่จะสร้างหนี้เพิ่ม กลายเป็นปัญหาเรื้อรังไม่มีวันจบ
นายเกียรติอนันต์ กล่าวถึงงานวิจัยด้ายเศรษฐศาสตร์เชิงนโยบาย ได้ชี้ให้เห็นว่า การแก้ปัญหาความยากจนนั้น จะใช้นโยบายเชิงมหภาคไม่ได้ ต้องเป็นนโยบายเชิงจุลภาคสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ เฉพาะสาขาอาชีพ โดยต้องพิจารณาพื้นฐานทางสังคมเศรษฐกิจและความสามารถของเขาควบคู่กันไปด้วย มีการศึกษาในเชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาก่อนจะลงมือแก้ไข จึงจะแก้ปัญหาได้ถูกจุด เงินที่ลงไปก็ไม่สูญเปล่า