เร่งเครื่องผลัก ‘สมัชชาปชช.ปฏิรูปประเทศ’ แก้ความเหลื่อมล้ำ-ไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม 709 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ธุรกิจเอกชน และสื่อมวลชน กว่า 50 องค์กร อาทิ สมาคมสหพันธ์เกษตรเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง,เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม, เครือข่ายท้องถิ่นไทย, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ,คณะอนุกรรมการส่งเสริมและประสานเครือข่ายคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา, มูลนิธิชุมชนไทย, เครือข่ายนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ธรรมศาสตร์ ม.นิด้า, ฯลฯ ประชุมเตรียมงานวางแผนจัดตั้งคณะทำงาน ‘สมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย’ เพื่อร่วมหาแนวทางปฏิรูปประเทศแก้ไขปัญหาความยากจนเนื่องจากความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในสังคมไทยในระยะเร่งด่วน และระยะยาว
ที่ประชุมมีมติว่าจะร่วมดำเนินการจัดตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยขึ้น โดยให้มีสถานะเป็นเครือข่ายความร่วมมือจากภาคประชาสังคมปราศจากการแทรกแซงของรัฐและนักการเมือง เน้นการดึงองค์กร ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วม โดยมีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้ 1.ต้องดำเนินการผลักดันกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ อาจให้มีการบรรจุวาระไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงและต่อเนื่องของกระบวนการขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศในทุกมิติ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลทุกสมัยยังไม่จริงจังต่อการปฏิรูปการบริหารงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง 2.หลักการในภาพรวมของการปฏิรูปประเทศต้องมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนเนื่องจากความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย เช่น ปัญหาที่ดิน ข้อเรียกร้องปฏิรูปสื่อ การเข้าถึงทรัพยากรทำกิน ฯลฯ
จากนั้นที่ประชุมมีมติให้เครือข่ายกว่า 50 องค์กร กลับไปสรุปและรวบรวมปัญหา ข้อเสนอแนะ และแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นจากหน่วยงานของตนจากทั่วประเทศ และให้ส่งสรุปปัญหาดังกล่าวต่อแกนนำอาสาสมัครเครือข่ายคณะเตรียมงานฯ จัดตั้งสมัชชาประชาชนอีกครั้งภายในวันที่ 10 พ.ค.นี้ เพื่อให้เห็นสภาพปัญหาทั้งหมด สำหรับเตรียมการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงสร้าง เป้าหมาย โมเดลการปฏิรูปประเทศไทยในขั้นต่อไป
นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ประเภทสรรหา และประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวในที่ประชุมยอมรับว่าการชุมนุมมีประโยชน์ต่อสังคมทำให้ทุกภาคส่วนมามองประเด็นความเหลื่อมล้ำในสังคมจากการพัฒนาที่ไม่สมดุล มีความพยายามป้องกันไม่ให้การชุมนุมต่อสู้ของประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อทางการเมือง และก่อนที่รัฐบาลจะประกาศกระบวนการปรองดอง ก็มีความพยายามตั้งวงสนทนาประเด็นการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมแก้ปัญหา ถือว่า เป็นความพยายามดึงฟืนออกจากกองไฟที่กำลังเผาบ้านของเราอยู่
"ดังนั้นควรดึงทุกคนมาคุยปัญหา เพราะวันนี้คนจนไม่ต้องการคำพูด หรือการแก้ปัญหาแบบปะพรมน้ำมนต์อีกต่อไป การปฏิรูปสังคมต้องเป็นสิ่งที่กินได้ สัมผัสได้ ไม่ว่าจะกลุ่มคนจน เกษตรกร ปัญหาหนี้สิน ที่ดิน การเข้าถึงทรัพยากร คนไร้สัญชาติ และอีกมากมายต้องได้รับการกลั่นกรองจากกลุ่มปัญหาของแต่ละกลุ่มว่า เรื่องใดเป็นปัญหาเร่งด่วนบ้าง แล้วเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจประกาศปลดล็อคแก้ไขปัญหาเร่งด่วนแต่ละเรื่องภายใน 1-3 เดือน ซึ่งจะเป็นสินค้าตัวอย่างของการปฏิรูปที่เป็นจริงและกินได้”
นางรสนา กล่าวอีกว่า ไม่อยากให้การรวมตัวกันของเครือข่ายประชาชนต้องไปพึ่งนักการเมือง เป็นเพียงส่วนขยายของ รัฐบาล หรือส่วนขยายที่จะมาเป็นกองเชียร์รัฐบาล แต่ควรเป็นกระบวนการภาคประชาชนที่เสนอปัญหาต่อรัฐบาลเพื่อให้รัฐใช้กลไก บริหารปลดล็อคปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งจะเป็นการชักชวนผู้ชุมนุมเห็นว่าพื้นที่ในการชุมนุมนั้นไม่ได้สนใจปัญหาของพี่น้องจริงๆ
นางรสนา กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานนี้ต่อไปนั้น ต้องพิจารณาถึงโครงสร้างของสมัชชาประชาชนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ การจัดเวทีเปิดรับความเห็นทั่วประเทศโดยการริเริ่มจากภาคประชาชนไม่ใช่รัฐบาล กรอบระยะเวลาและรูปแบบเครือข่ายการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง งบประมาณสนับสนุน และการใช้กระบวนการสื่อสื่อสารกับสังคมด้วย
ส่วนนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนต้องร่วมกันขับเคลื่อนงานปฏิรูปประเทศในการบริหารจัดการใหม่ให้เป็นรูปธรรมทั้งในระยะสั้น กลาง และแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรม ความยากจนของประเทศ ขณะนี้ทุกคนต้องมองข้ามความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อมุ่งไปที่เครือข่ายการเมืองภาคประชาชนผลักให้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ไม่ให้ย้อนรอยเช่นในอดีตที่ผ่านมา และไม่ให้สมัชชาประชาชนฯ ที่จะเกิดขึ้นเป็นแค่เสือกระดาษ
ล่าสุดพบว่ามีเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน สื่อสารมวลชน องค์กรอิสระ เครือข่ายชุมชนกรุงเทพและท้องถิ่น ร่วมขบวนการขับเคลื่อนแล้ว 100 กว่าองค์กร เช่น สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายสถานะทางกฎหมายและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย, สถาบันปรีดีพนมยงค์, เครือข่ายเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย, สภาองค์กรชุมชนกรุงเทพฯ, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, เครือข่ายป.ป.ส. ภาคประชาชน กทม., เครือข่ายสมัชชาสุขภาพ, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งชาติ,สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เป็นต้น