พม. ชี้สมุทรสาครพื้นที่เสี่ยงค้ามนุษย์ กระตุ้นชาวมหาชัยเฝ้าระวัง
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดเวทีสัญจร“รณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” โดยนายอิสสระ สมชัย รมว.พม.เป็นประธานเปิดงาน 2 ก.ค. 53 ที่เขื่อนหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
นายอิสสระ สมชัย รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ โดยสนับสนุนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ตลอดจนการดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามข้อตกลงระหว่างไทยกับเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการดำเนินงานเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชนจะต้องช่วยเป็นหูเป็นตา เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสการค้ามนุษย์ให้แก่ภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีแรงงานอพยพเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานต่างด้าว ส่งผลให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหลายๆ ด้าน ประกอบกับเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมง จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงซึ่งคนถูกล่อลวงไปค้าแรงงานประมงมากที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาการค้ามนุษย์ที่กำลังแพร่ขยายในวงกว้าง ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ตลอดจนสร้างเสริมให้ประชาชนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถรู้เท่าทันภัยของปัญหาการค้ามนุษย์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันประการหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตกเข้าสู่วงจรของการค้ามนุษย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้จัดเวทีสัญจรรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ครั้งนี้ขึ้น นรูปแบบของเวทีเสวนา เรื่อง การป้องกันภัยการค้ามนุษย์และการแสดงละครสั้น เรื่อง ค้ามนุษย์ ภัยใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง ซึ่งจัดขึ้นในภาคบ่ายที่ห้องประชุมตลาดทะเลไท มหาชัย และการแสดงคอนเสิร์ต เวทีสัญจรรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ประจำปี 2553 นำโดยศิลปินนักร้องชื่อดัง อาทิไชยา มิตรชัย ไผ่ พงศธร ฝน ธนสุนทร อั้ม นนทิยา เป็นต้น
นายอิสสระ กล่าวด้วยว่า ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ทั้งเด็ก ผู้หญิงหรือผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์จะด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ตาม ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐอย่างรวดเร็ว ผู้กระทำความผิดต้องถูกดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ ความสามารถในการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องร่วมกันป้องกันมิให้กลุ่มเสี่ยงตกเข้าสู่กระบวนการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้ความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้ลดน้อยลง
ด้านนางพนิตา กำภู ณ อยุธยา อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ประเทศไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาการค้ามนุษย์ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการบังคับขอทาน การล่อลวงเข้าสู่การ ค้าบริการทางเพศ การบังคับใช้แรงงาน และการบังคับค้าประเวณี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกลุ่มหญิงและเด็ก และปัจจุบันได้ขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชาย โดยใช้วิธีการลักพาตัว หลอกลวง หรือล่อลวงเพื่อไปแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบการบังคับใช้แรงงาน เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้เสียหายเป็นไปอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทั่วถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯได้กำหนดให้บ้านพักเด็กและและครอบครัว 76 แห่งทั่วประเทศเป็นสถานรับตัวชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาการค้ามนุษย์และส่งต่อไปรับความช่วยเหลือในหน่วยงานหลัก 9 แห่ง ได้แก่ สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพทั้งชายและหญิงทั้งหมด 8 แห่ง และสถานแรกรับเด็กชาย 1 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งในด้านการฟื้นฟูเยียวยา การส่งกลับภูมิลำเนา และคืนสู่สังคม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในการดำเนินคดีด้านกฎหมาย การฝึกทักษะทางด้านอาชีพให้แก่ผู้เสียหาย การช่วยเหลือในการส่งกลับคืนสู่ครอบครัว และประเทศภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นหรือประสบเหตุค้ามนุษย์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ ศูนย์ประชาบดี โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง