ครม.ไฟเขียวร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ
กำหนดมาตรการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน ระบุ ให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง
วันนี้ (4 พ.ค.) คณะรัฐมนตรี รับทราบความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ตามที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอ ข้อเท็จจริง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเสนอว่า
1. โดยที่การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนถือเป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลในประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทยนั้น การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (The UN International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ข้อ 21 ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีด้วย
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพดังกล่าวก็อาจถูกจำกัดได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสามารถของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ปัจจุบันไม่ปรากฏว่ามีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะออกใช้บังคับ
ดังนั้น เมื่อมีการชุมนุมประท้วง ผู้ใช้สิทธิในการชุมนุมก็อาจกระทำการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่สามได้ และในทางปฏิบัติ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องนำกฎหมายอื่นที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์และมาตรการที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อใช้ดำเนินการกับการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะมาใช้บังคับโดยอนุโลม และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายหรือการสั่งการของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีข้อจำกัดหลาย ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความจำเป็นต้องยุติหรือสลายการชุมนุม อันอาจจะเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ในขณะที่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็อาจถูกดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงและถูกดำเนินคดีอาญาได้
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม ทำหน้าที่จัดสรรการใช้พื้นที่สาธารณะ และกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ และเงื่อนไขการยุติหรือการสลายการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกำหนดขอบเขตการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของ ประชาชน รวมถึงการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั่วไปที่ถูกกระทบอันเนื่องมาจากการชุมนุมดังกล่าวตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้
2. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเพื่อพิจารณาแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แล้วรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายพิจารณาต่อไป
3. คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะได้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ได้มีการดำเนินการยกร่างผ่านมาแล้วจำนวน 5 ฉบับ ประกอบกับเอกสารทางวิชาการ คำพิพากษาของศาล และกฎหมายของต่างประเทศ
4. คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้พิจารณาโดยใช้ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... เป็นฉบับหลัก และได้นำข้อเท็จจริงตามข้อ 3 มาพิจารณาประกอบด้วย โดยคำนึงถึงประโยชน์ได้เสีย และสิทธิเสรีภาพของฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามฝ่ายประกอบกัน ได้แก่ สิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมในที่สาธารณะตามรัฐธรรมนูญ ประโยชน์สาธารณะ และความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของบ้านเมือง และสิทธิเสรีภาพของบุคคลผู้ได้รับผลร้ายจากการชุมนุมในที่สาธารณะ ทั้งนี้ ได้นำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ ดังกล่าวไปร่วมรับฟังในเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขทบทวนร่างพระราชบัญญัติตามมติ คณะรัฐมนตรี (6 ตุลาคม 2552) แล้ว
5. ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ครั้งที่ 1/2553 วันที่ 29 มกราคม 2553 ที่ประชุมมีมติ เห็นชอบในหลักการบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะและการประชุมครั้งที่ 2/2553 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ประชุมเห็นสมควรผลักดันให้มีพระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะโดยเร็ว จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. เหตุผลและความจำเป็นในการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ 2. บททั่วไป 3. ขอบเขตของกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ 4. คำนิยาม 5. บทกำหนดความรับผิดชอบ หน้าที่ และข้อปฏิบัติของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ผู้นำการชุมนุมสาธารณะและผู้ร่วมการชุมนุมสาธารณะ
6. บทกำหนดอำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ และข้อปฏิบัติของพนักงานเจ้าหน้าที่ 7. การอุทธรณ์ 8. บทกำหนดโทษ 9. การดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
จากนั้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามของคำว่า “การชุมนุมสาธารณะ” “ที่สาธารณะ” “ผู้จัดการชุมนุม” “ผู้ชุมนุม” และ “ผู้รับแจ้ง” เป็นต้น (ร่างมาตรา 5)
2. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 6)
3. กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธและต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน ตลอดจนสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ และในกรณีเห็นสมควร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะได้
4. กำหนดมาตรการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะและเพื่อ คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่นตามกฎหมาย โดยกำหนดให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ ผู้เชิญชวน หรือผู้นัดหมายให้ ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุมต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองชั่วโมง (ร่างมาตรา 10)
5. กำหนดให้การชุมนุมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชนต้องแจ้งการชุมนุมได้แก่ การชุมนุมสาธารณะที่ขัดขวางความสะดวกของประชาชนที่จะใช้หรือเข้าออกที่สาธารณะนั้นตามปกติ หรือขัดขวางการให้บริการหรือใช้บริการท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีขนส่งสาธารณะ ระบบการขนส่งสาธารณะ หรือการสื่อสารสาธารณะอื่น หรือกีดขวางทางเข้าออกสถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท และสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานี ขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน ตลอดจนสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ (ร่างมาตรา 12)
6. กำหนดให้ผู้รับแจ้งที่เห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นขัดต่อข้อ 3 ให้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุม และให้ศาลพิจารณาคำขอเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุมเป็นการด่วน คำสั่งของศาลดังกล่าวให้เป็นที่สุด (ร่างมาตรา 13)
7. กำหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะที่ไม่สามารถแจ้งการชุมนุมสาธารณะได้ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองชั่วโมง ให้ผู้นั้นมีหนังสือแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น แล้วแต่กรณี ก่อนเริ่มการชุมนุม ในการนี้ ผู้รับ คำขอต้องมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอผ่อนผันกำหนดเวลา พร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ และในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่พอใจผลการพิจารณา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา คำสั่งของศาลดังกล่าวให้เป็นที่สุด (ร่างมาตรา 14)
8. กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะที่ศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือที่จัดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกำหนดเวลา หรือที่จัดขึ้นระหว่างรอคำสั่งศาลดังกล่าวข้างต้น เป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ร่างมาตรา 15)
9. กำหนดให้ “ผู้จัดการชุมนุม” มีหน้าที่ต้องอยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาการชุมนุม ต้อง ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ (ร่างมาตรา 16)
10. กำหนดให้ “ผู้ชุมนุม” มีหน้าที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ต้องเข้าร่วมการชุมนุมโดยเปิดเผยตัว ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง ต้องไม่นำอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหายหรือทำลายด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น ฯลฯ (ร่างมาตรา 17)
11. ในกรณีที่ผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้าย ผู้ชุมนุมจะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น และผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง (ร่างมาตรา 18-ร่างมาตรา 19)
12. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นเจ้าพนักงานอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและการชุมนุมสาธารณะ และอาจแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ หรือหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐหรือเอกชนในท้องที่นั้นเพื่อทราบด้วยก็ได้ โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 20)
13. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐจัดหรือประสานให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะ ทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุมสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานที่ที่ใช้ในการชุมนุมและช่วงเวลา ที่มีการชุมนุม ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด (ร่างมาตรา 21)
14. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจเป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากผู้จัดการชุมนุมให้เข้าไปรักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุมและในช่วงเวลาการชุมนุม และให้รายงานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่นเพื่อทราบด้วย (ร่างมาตรา 22- ร่างมาตรา 23)
15. กำหนดแนวทางการดำเนินการกรณีมีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ (ร่างมาตรา 24-ร่างมาตรา 27)
16. กำหนดให้การใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานดังกล่าวอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาล โดยหากผู้ชุมนุม ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด (ร่างมาตรา 28)
17. กำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ผู้ชุมนุม ตลอดจนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้และยึดได้ในการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ (ร่างมาตรา 30-ร่างมาตรา 38)
18. กำหนดบทเฉพาะกาลให้การชุมนุมสาธารณะที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะที่จัดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามความในหมวด 2 แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่การอื่นให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 39)