ก.เกษตรฯ เดินหน้าปลูกพืชพลังงานทดแทน 3 ชนิด
มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เตรียมแผนส่งเสริมการปลูกในพื้นที่เหมาะสม พร้อมวางระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานเอื้อต่อการเพิ่มผลผลิตพืชน้ำมันของประเทศ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านพลังงานภายใต้คณะกรรมการนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กระทรวงเกษตรฯเตรียมแผนส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน ซึ่งประกอบไปด้วยมันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยพบว่า มีพืชที่สามารถนำมาปลูกเป็นพืชพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ ข้าวฟ่างหวาน สบู่ดำ และอ้อยชีวมวล โดยที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 1 ชุด โดยมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน มีหน้าที่ในการนำแผนยุทธศาสตร์การปลูกพืชพลังงานทดแทนในรายสินค้ามาวิเคราะห์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายยุคล กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์การปลูกพืชพลังงานทดแทนที่เป็นพืชหลัก อาทิ มันสำปะหลัง ทางกระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะผลิต 30 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ดีเนื่องจากในปีนี้นี้มันสำปะหลังประสบปัญหาเพลี้ยระบาด สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประเมินว่า ผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศจะลดลงเหลือประมาณ 23 ล้านตัน จึงได้มอบให้คณะทำงานไปทบทวนในส่วนของตัวเลขผลผลิตมันสำปะหลังของปีนี้อีกครั้งหนึ่ง
"ส่วนอ้อยตั้งเป้าการผลิตประมาณ 65 – 80 ล้านตันต่อปี ได้ให้มีการสำรวจพื้นที่ปลูกเพื่อประเมินผลผลิตที่ชัดเจน อย่างไรตาม พืชพลังงานทั้ง 3 ชนิดจำเป็นต้องใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต รวมทั้งการใช้ปุ๋ยและการกำหนดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสม จึงจำเป็นต้องมีการจัดระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะกับการเพาะปลูกพืชพลังงาน จะทำให้สามารถกำหนดแผนการผลิตที่เหมาะสมได้ ในเรื่องนี้คณะทำงานจะได้มีการประสานด้านข้อมูลกับฝ่ายวิชาการเพื่อจัดทำแผนการผลิตและกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกที่เหมาะสมต่อไป"