“บวรศักดิ์” เสนอ 2 ยุทธศาสตร์ผ่าทางตันวิกฤตชาติ
จี้ถึงเวลา “ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม” ควบ “ปฏิรูปอำนาจใหม่” โดยไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสถาบันหลักที่สำคัญของสังคมไทย เชื่อยุบสภาไม่ใช่ทางออก เรียกร้องถึงเวลาคนรวยต้องช่วยคนจน
วันนี้ (3 เม.ย.) ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายพิเศษเรื่อง "จุดเปลี่ยนประเทศไทย" ในการอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 2 จัดโดยสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแหง่ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เขตดุสิต กรุงเทพฯ โดยเสนอใช้ 2 ยุทธศาสตร์ ในการแก้ปัญหาของประเทศไทยขณะนี้ คือ ปฏิรูปการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ใหม่ และปฏิรูปอำนาจใหม่
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือ ประเทศไทยต้องปฏิรูปจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ใหม่อย่างเป็นธรรม โดยการจัดสรรทรัพยากรใหม่อย่างเป็นธรรม เช่น การเข้าถึงระบบตลาด การปรับระบบภาษีอากร การลดการกระจุกตัวของทุน ต้องทำนโยบายประชานิยมให้เป็นรัฐสวัสดิการตามกฎหมายโดยการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ต้องปรับระบบภาษี มีมาตรการทางการคลังที่เหมาะสม การใช้จ่ายภาครัฐมีความเป็นธรรมมากขึ้น และส่งเสริมการสร้างสมรรถนะของคนจน โดยรัฐต้องส่งเสริมเอสเอ็มอีในหมู่คนจน
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่ 2 ว่า ประเทศไทยต้องจัดสรรอำนาจใหม่ ด้วยการปรับระบบบริหารภาครัฐและความสัมพันธ์ใหม่ในสังคม ควรต้องปรับภารกิจ การถ่ายโอนอำนาจ การปรับทุนขนาดใหญ่ การเมือง และภาคสื่อมวลชน รวมถึงการปรับโครงสร้างกระบวนการทางการเมืองและการบริหารใหม่
“ผมเชื่อว่าการยุบสภาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แค่ได้ผู้นำคนใหม่มา ถึงเวลาแล้วที่ความเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมา หากเราเปลี่ยนแบบนี้ได้ การแก้ปัญหาจะยั่งยืน เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ความเปลี่ยนแปลงนี้ จะต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงถึงสถาบันหลักที่สำคัญต่อสังคมไทย ที่สำคัญ คือ ความแตกต่างทางรายได้มีมากเท่าใด ความเป็นประชาธิปไตยก็จะมีน้อยเท่านั้น ถ้ารายได้ต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดคนรวยจะซื้อคนจนได้ และวันนี้คนชั้นบนต้องร่วมกันช่วยเหลือคนระดับล่าง” ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าว
สำหรับปมปัญหาที่แท้จริงของประเทศไทยขณะนี้ ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า เกิดจากความขัดแย้งทางโครงสร้าง ที่เกิดจากการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลตลอดมา ทำให้ประเทศไทยเกิดคนจน ที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และตกอยู่ภายใต้จารีตระบบอุปถัมภ์ เป็นเหตุให้คนในชนบทต้องอาศัยพึ่งพาคนมีเงิน มีอิทธิพล และทำให้คนจนถูกมองว่าซื้อได้ในเวลาเลือกตั้ง ต่างจากคนชั้นกลางในเมืองที่มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าและมีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และอยู่ใต้ระบบความสัมพันธ์แบบพันธะสัญญา จึงทำให้ที่ผ่านมา คนจนจึงกลายเป็นฐานเสียง ขณะที่คนชั้นกลางเป็นฐานนโยบาย
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา ถูกใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขาดหลักการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ โดยพร้อมที่จะละทิ้งความเป็นประชาธิปไตย หากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถูกกระทบ คนชั้นกลางไทยไม่เคยต้องต่อสู้อะไรเพื่อประชาธิปไตย แต่จะแสดงบทบาทและสนับสนุนประชาธิปไตยต่อเมื่อมีผลประโยชน์ร่วมเท่านั้น จนเกิดนโยบายประชานิยมที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะส่งเสริมให้ประชาชนงอมือเท้า ไม่ทำอะไร ส่งเสริมการนำเงินในอนาคตมาใช้ และเป็นการรักษาสถานะความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมด้วย
“ผมไม่เชื่อว่าเหตุความขัดแย้งจะมีเพียงอำมาตย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนเสื้อแดงหรือคนเสื้อเหลือง เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา กลุ่มคนเสื้อแดงกับพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงแค่คนที่เปิดให้ฝุ่นใต้พรมฟุ้งออกมาเท่านั้น เมื่อเปิดพรมแล้วฝุ่นกระจายขึ้นมา คำถามคือเราจะจำกัดฝุ่นได้อย่างไร เราไม่สามารถปัดฝุ่นเก็บไว้ใต้พรมได้เหมือนเดิมอีกต่อไป วันนี้เรากำลังติดกับดักทางความคิด” เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าว
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวด้วยว่า วันนี้ประเทศไทยจึงต้องเสนอทางออกแก้ไขแบบค่อยเป็นไป เพราะไม่สามารถปฏิวัติได้ทันที คนไทยเกิดความหวาดวิตกในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศไทยต้องเสียหายไปมากกว่าความเสียหายที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ทำไว้มากมายนัก