“บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เสนอใช้ “ทวิยุทธศาสตร์” พัฒนาประเทศ
วันนี้ (11 มี.ค.) ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนางานวิจัยของประเทศกับบทบาทของสภาวิจัยแห่งชาติในอนาคต” ในเวทีประชุมกรรมการบริหารและกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ ห้องเมจิก2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยกล่าวถึงบทบาทของวช.ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตว่า ตั้งแต่มีการแถลงตั้งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วช.ไม่เคยมีบทบาทชัดเจนในเรื่องของการร่วมวางยุทธศาสตร์พัฒนาชาติมากนัก เนื่องจากตลอดมาสภาพัฒน์ฯ มักจะวางแผนกันเองมากกว่า
ศ.ดร.บวรศักดิ์ กล่าวถึงการพัฒนาประเทศไทยตลอด 40 ปีที่ผ่านมาว่า มีช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยอย่างชัดเจน กลุ่มคนระดับ 20% บนของคนทั้งประเทศถือครองทรัพย์สิน (Private Ownership) 69% ของประเทศ ขณะที่คนจนกลุ่มระดับ 10-20% สุดท้ายของประเทศถือครองทรัพย์สินเพียง 1% และพบว่ามีเพียง 11 ตระกูลดังในประเทศที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าของหุ้นที่มีมูลค่าในตลาดซื้อขาย ภาวะการกระจายรายได้ที่ไม่สมดุลนี้นำไปสู่ความขัดแย้งเหลืองแดงในปัจุจบัน
“หากวิเคราะห์ให้ลึกซึ้งไม่ใช่เป็นเพียงปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มต่อต้านเท่านั้น พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งปัญหานี้ แท้จริงแล้วฐานปัญหานี้ คือ ความมั่งมีของคนรวยในระดับกลางและระดับบนของประเทศ กับความไม่มีของคนจนในระดับล่าง ความเครียดทางชนชั้นนี้เกิดจากคนที่มีฐานะด้อยกว่าทางเศรษฐกิจ การศึกษา และสังคมมีความรู้สึกด้อยกว่าในการดำรงชีพ เพราะฉะนั้นลักษณะการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุลแบบนี้มีโดยตรงต่อปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นขณะนี้"
สำหรับแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลนั้น ดร.บวรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องเริ่มจาการปฏิรูประบบการจัดสรรผลประโยชน์และจัดสรรอำนาจในสังคมใหม่ โดยสร้างการพัฒนาประเทศด้วย “ทวิยุทธศาสตร์” คือ ยุทธศาสตร์แรกต้องคงไว้ซึ่ง "การพัฒนาประเทศแบบโลกาภิวัตน์พัฒนา” คือ จะสนับสนุนเฉพาะคนที่เชื่อมกับเศรษฐกิจโลกภายนอกได้อย่างเดียว เพื่อจะสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนจน ผู้ผลิตขนาดกลางหรือขนาดย่อม เพราะไทยไม่สามารถถอยหลังกลับได้และรัฐก็ทุ่มมาทางนี้ตลอด เว้นแต่การต้องเตรียมพร้อมสำหรับรองรับความเปลี่ยนแปลงอาเซียนใน 5 ปีข้างหน้า
ดร.บวรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า เราต้องมียุทธศาสตร์ที่สอง “ยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนา” ต้องช่วยเหลือคนจนและธุรกิจขนาดย่อม ซึ่งรัฐไม่เคยให้ความสนใจเลยตลอด 50 ปีที่ผ่านมา และต้องไม่ใช่วิธีการแบบประชานิยมที่ทำกันอยู่เพราะจะไปไม่รอด ต้องทำให้ประชานิยมกลายเป็นรัฐสวัสดิการ ควรต้องเขียนรัฐธรรมนูญ กฎหมายใส่เรื่องความช่วยเหลือแก่คนจนว่าต้องเป็นพื้นฐานบังคับที่สังคมไทยต้องช่วยเหลือ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ รวมถึงต้องมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีของประเทศทั้งหมด สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนทำงานต้องแบกรับภาระเสียภาษีดูแลกลุ่มใหญ่ของประเทศส่วนนี้ ใน 50 ปีข้างหน้าหากไม่วางแผนระบบสวัสดิการที่ดีและไม่จัดหารายได้อย่างดี ประเทศไทยก็จะไม่มีทางไปต่อไป ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความรู้จากทุกฝ่าย สังคมไทยต้องเตรียมความรู้ไว้ให้พร้อม เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงบทบาทของวช.ในอนาคตต่อการพัฒนาประเทศ ว่า ควรส่งเสริมยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาที่เน้นคนจน คนด้อยโอกาส ธุรกิจขนาดย่อม จากนี้วช.ควรจะต้องส่งเสริมการวิจัยในระดับจุลภาคไม่มุ่งเพียงระดับมหภาค ต้องส่งเสริมการวิจัยที่จะทำให้ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขี้น เช่น ส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าชุมชน พัฒนาการตลาดของชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นต้น ซึ่งมีหลายอย่างที่สามารถทำได้และต้องทำอีกมาก
ส่วนข้อเสนอประกอบด้วย 1.วช.ต้องมีระบบฐานข้อมูลกลางในการจดทะเบียนงานวิจัย ต้องกำหนดให้งานวิจัยทุกชนิดมาจดทะเบียนที่วช. เพื่อไม่ให้เกิดงานวิจัยและการลงทุนงานวิจัยที่ซ้ำซ้อน 2.วช.ต้องสร้างงานวิจัยที่เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และพัฒนาการเผยแพร่ผลงานเพื่อนำไปใช้จริงไม่ใช่เพียงวิจัยขึ้นหิ้ง ต้องเน้นการส่งเสริมการจดสิทธิบัตรงานวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้งานวิจัยต่างๆ เกิดประโยชน์ด้วย และ 3.วช.ต้องสร้างเครือข่ายประสานงานเรื่องการวิจัยให้กว้างขึ้นกว่าที่มีเพียงวช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สรวส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ต้องมุ่งสร้างเครือข่ายกับภาคราชการ กระทรวง ทบวง กรม มหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่วช.จะแบกรับเรื่องใหญ่ของชาติเพียงฝ่ายเดียวต้องช่วยกันทุกศาสตร์ และวช.ต้องทำให้สังคมรู้ว่า วช.มีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง
ส่วนประเด็นการกระจายรายได้ด้วยวิธีการประชานิยมที่พรรคการเมืองทุกพรรคนิยมใช้ในการหาเสียงนั้น เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า นโยบายประชานิยมเป็นตัวทำลายเศรษฐกิจแบบตลาดเพราะทำให้คนงอมือเท้าไม่ช่วยตัวเอง รอรับและขออย่างเดียว ขณะเดียวกันก็มีเจตนาเป็นการซื้อเสียงด้วยการใช้อำนาจเงินที่เหนือกว่าซื้อคนที่ต่ำกว่า วิธีการประชานิยมแบบนี้เป็นการรักษาระบบอุปถัมภ์ในลักษณะความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างอำนาจทุนกับคนจน และเป็นวิธีการที่นำเงินอนาคตของประเทศมาใช้ก่อนและเป็นการผลักหนี้สินให้ลูกหลานในอนาคตรับ ซึ่งการที่จะเปลี่ยนแปลงได้ต้องไปสู่การเมืองแบบประชาธิปไตย และทำให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการนำรัฐสวัสดิการเข้ามา
ด้านศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ ต้องทำให้ประชาชนเห็นความชัดเจนของสภาวิจัยแห่งชาติที่เป็นที่พึ่งและความหวังของสังคมให้ได้ ส่วนเรื่องของยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนานั้น วช.ก็ดำเนินการอยู่ซึ่งจะสนับสนุนส่งเสริมให้ยิ่งขึ้น