นายกฯให้การบ้านป.ป.ท.ศึกษารูปแบบคอร์รัปชั่น
วันนี้ (26 ก.พ.) เวลา 13.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาแผนปฏิบัติการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่นตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรรมการและเลขานุการ เสนอ โดยใช้หัวข้อ “6 มาตรการปกป้องไทย ปลอดภัยทุจริต พิชิตไทยเข้มแข็ง เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน” ประกอบด้วย 1. มาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมไทยและร่วมใจต้านภัยการทุจริต 2. มาตรการสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น 3. มาตรการสร้างกลไกรับเรื่องร้องเรียนและกำหนดมาตรการตรวจสอบติดตามการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน 4. มาตรการสำรวจสถานการณ์การทุจริตและจัดอันดับความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐ CPI 5. มาตรการยกระดับมาตรฐานหน่วยงานของรัฐเพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส ISO และ 6. มาตรการสร้างกลไกคุ้มครองนักลงทุนผู้ประกอบการต่างชาติจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องของการรณรงค์ ที่เห็นว่าควรทำในลักษณะของการรวมศูนย์มากกว่าที่จะกระจายการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้มีการจัดทำแผนแม่บทด้านการประชาสัมพันธ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอยู่แล้ว ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ควรจะทำงานร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. มากขึ้น รวมทั้งควรสร้างหลักประกันการคุ้มครองบุคคลที่จะเป็นผู้ให้ข้อมูลข่าวสารในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น และการเข้าถึงพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการให้แก่บุคคลที่จะเข้ามาเป็นเครือข่ายได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เน้นให้มีการศึกษาประเด็นรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่มีมูลค่าจำนวนมาก เช่น กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการกำหนดราคากลาง การล็อกสเปก ปัญหากระบวนการประมูลงานที่ไม่ชอบธรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนการสร้างมาตรฐานหน่วยงานให้ก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใสนั้น อาจจะให้หน่วยงานที่พบการทุจริตในเรื่องนั้น ๆ ตอบโจทย์มาว่าเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในหน่วยงานของตนเองจะทำอย่างไร ซึ่งจะทำให้มีความเป็นรูปธรรมของการทำงานของสำนักงาน ป.ป.ท.ที่ลึกลงไปในการปฏิบัติราชการตามปกติ ที่จะไปอุดช่องว่างช่องโหว่ของกฎระเบียบ ระบบการบริหารงานที่มีอยู่และเกิดการทุจริตนั้นได้อย่างไร รวมทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน เช่น การตั้งศูนย์ให้บริการนักลงทุนแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะช่วยให้ช่องทางการทุจริตลดลงได้
ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ จะได้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของที่ประชุมไปปรับปรุงเพิ่มเติม พร้อมยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนทั้ง 6 มาตรการตามความจำเป็น แล้วแจ้งเวียนให้คณะกรรมการ หากไม่มีข้อทักท้วงให้ดำเนินการต่อไปได้ แล้วมารายงานที่ประชุมอีกครั้ง
ที่ประชุมยังรับทราบรายงานสถานการณ์การทุจริตภาครัฐ โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้วิจัยสำรวจวัดระดับการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ตลอดช่วงปี 2552 ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจทัศนคติและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อปัญหาการทุจริต พบว่า1. ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.1 มองว่าสถานการณ์ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ในระดับรุนแรงถึงรุนแรงที่สุด 2. สาธารณชนยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.2 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 77.5 ในปี 2552 และมองว่าสถานการณ์การทุจริตอยู่ในระดับรุนแรงกว่าปัญหายาเสพติด 4-5 เท่า 3. กลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน นักเรียน นักศึกษาที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 62.5 เห็นว่าการเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องปกติธรรมดายอมรับได้ 4. กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งเป็นบุคคลนำสังคมมีทัศนคติยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นกว่าร้อยละ 28.4 และ 30.2 5. ภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศไทยในมุมมองจากต่างชาติ (CPI INDEX)
สถิติเรื่องร้องเรียน ปี 2550 – 2552 จำแนกเป็น ปี 2550 จำนวนเรื่องร้องเรียน 26,235 เรื่อง ปี 2551 จำนวนเรื่องร้องเรียน 15,348 เรื่อง ปี 2552 จำนวนเรื่องร้องเรียน 21,399 เรื่อง โดยจังหวัดที่ถูกร้องเรียนจำนวน 500 เรื่องขึ้นไปมี 17 จังหวัด จังหวัดที่ถูกร้องเรียนจำนวน 250 ถึง 499 เรื่อง มี 29 จังหวัด และจังหวัดที่ถูกร้องเรียนจำนวน 1 ถึง 249 เรื่อง มี 30 จังหวัด ฐานความผิดที่ถูกร้องเรียน ได้แก่ 1. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ 2. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น 3. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง หรือเรียกรับผลประโยชน์จากการจัดซื้อ/จัดจ้าง 4. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐยักยอก/ฉ้อโกงทรัพย์ และ 5. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับผลประโยชน์เพื่อการให้บริการหรือการอำนวยความยุติธรรม
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปที่ระบุการเคยเจอเคยจ่ายเมื่อถูกรีดไถ หรือเรียกรับเงินใต้โต๊ะ สินบน ส่วย ผลประโยชน์ เลี้ยงดูปูเสื่อให้กับกลุ่มข้าราชการในหน่วยงานต่าง ๆ ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ 1. ตำรวจ เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 14.5 ไม่เคยร้อยละ 85.5 2. เจ้าหน้าที่อำเภอ หรือสำนักงานเขต เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 5.6 ไม่เคยร้อยละ 94.4 3. ข้าราชการส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อบจ. เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 5.3 ไม่เคยร้อยละ 94.7 4. เจ้าหน้าที่กรมที่ดิน เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 5.2 ไม่เคยร้อยละ 94.8 5. ครูอาจารย์ ผู้บริหาร สถานศึกษา เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 3.7 ไม่เคยร้อยละ 96.3 6. เจ้าหน้าที่กรมขนส่ง เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 3.5 ไม่เคยร้อยละ 96.5 7. ทหาร/สัสดี เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 1.8 ไม่เคยร้อยละ 98.2 8. เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 1.2 ไม่เคยร้อยละ 98.8 9. เจ้าหน้าที่กรมการค้า เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 0.9 ไม่เคยร้อยละ 99.1 10. เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน การธนาคารของรัฐ เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 0.7 ไม่เคยร้อยละ 99.3 11. เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต เคยเจอเคยจ่ายร้อยละ 0.4 ไม่เคยร้อยละ 99.6