อาจารย์นักประดิษฐ์ โชว์ผลงาน14 ปี ช่วยชาติประหยัดกว่าหมื่นล้าน
หมอประกิต เผยปัญหาหนักของนักประดิษฐ์ไทย คือ ต้องทำงานด้วยตัวเอง ลงทุนเอง พอทำงานเสร็จก็หมดโอกาสนำไปต่อยอด หลายชิ้นงานจึงไม่ได้ถูกนำออกมาใช้
นายแพทย์ประกิต เทียนบุญ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของรางวัลประกาศเกียรติคุณ ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2553 ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากสภาวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงชิ้นงานระบบสกรูยึดกระดูกสันหลังส่วน Pedicle ชนิดแท่ง rod ว่า ประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2538 เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้ใช้งานจริงกับผู้ป่วยมาแล้วกว่า 14 ปี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพมีชีวิตดีขึ้น และเคยได้รับพระราชทานรางวัลมาแล้วเมื่อปี 2548 จากนั้นได้ทำการศึกษาและพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติมอีกมากมาย นับจนถึงปัจจุบันมากกว่า 50 ชิ้นงาน
นายแพทย์ประกิต กล่าวว่า ผลงานระบบสกรูยึดกระดูกสันหลังส่วน Pedicle ชนิดแท่ง rod ที่ได้ผลิตขึ้นนี้ ทำให้ต่อมากระตุ้นให้เกิดชิ้นงานในลักษณะเดียวกันในประเทศไทย จนบริษัทต่างชาติต้องปิดบริษัทกลับไป จากราคาอุปกรณ์ที่ใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วย ต่อ 1 ชุด ประมาณ 1 แสนบาท ใช้สกรู 4 ตัวสมัยนั้นนับว่าราคาแพงมาก แต่เมื่อผลิตโลหะตัวนี้ขึ้นมาเหลือแค่ 2.5 หมื่นบาท เทียบได้กับของต่างประเทศ จนเป็นที่นิยมใช้ทั่วประเทศ สามารถลดอัตราสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศได้เกือบหมื่นล้านบาท
“กระบวนการผลิตทั้งหมดทำโดยคนไทย 100% ไม่มีการร่วมมือกับต่างประเทศ เป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยที่เข้มแข็งสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะเดียวกันยังมีระบบการตลาดที่ต้องการพัฒนาเพื่อความอยู่รอดของชิ้นงาน มีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ต้องอยู่ในความรับผิดชอบเกือบ 50 คน เพื่อให้ผลงานชิ้นนี้ออกสู่ประชาชน เรียกได้ว่า สิ่งประดิษฐ์นี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้พร้อมทั้งนำเงินที่เหลือมาทำการวิจัยพัฒนาต่อยอดได้ผลิตภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง”
ในฐานะอาจารย์นักประดิษฐ์ นายแพทย์ประกิต กล่าวว่า การผลิตชิ้นงานโดยลอกเลียนแบบนั้นง่าย แต่การประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆนั้นยากแสนเข็น ใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาจนสามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งนักวิจัยของประเทศที่พยามคิดค้น สร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา มีหลายระดับ 1.ลอกแบบจากต่างชาติทำไว้และนำมาใช้งาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างหนึ่ง 2.พัฒนาต่อยอด 3.เป็นการพัฒนางานชิ้นใหม่ขึ้นมา ถือเป็นงานที่มีคุณค่าคิดสิ่งใหม่ๆ คิดโดยมันสมองของเราเอง
“ปัญหาของนักประดิษฐ์ไทย คือ ต้องทำงานด้วยตัวเอง เป็นส่วนใหญ่ ไม่ขอทุน ควักกระเป๋าเอง บางครั้งต้องลงทุนหลายสิบล้านบาท พอทำงานเสร็จแล้วก็หมดโอกาสนำชิ้นงานไปต่อยอด หลายชิ้นพองานวิจัยเสร็จผลงานไม่ได้นำออกไปใช้” อาจารย์นักประดิษฐ์ กล่าว และว่า ถึงเวลาปฏิรูปตัวงานวิจัยเราต้องหาคนมาทำให้งานเราที่ทำวิจัยออกมา สามารถต่อยอดเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของงานชิ้นนั้นให้ได้