2 ผู้นำการเมืองปาฐกถาวันนักข่าว อภิสิทธิ์โชว์เศรษฐกิจกระเตื้อง อานันทชี้เร่งแก้มาบตาพุด
ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันนักข่าว “2 ผู้นำทางการเมืองและสังคม” นายกฯอภิสิทธิ์ โชว์ผลงานวิกฤติเศรษฐกิจคลี่คลาย คนมีงานทำเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรขยายตัว แจงแก้มาบตาพุดล่าช้าเพราะความไม่เชื่อมั่น ด้านอดีตนายกฯอานันท์ บอกวิกฤติมาบตาพุดเกิดจากข้าราชการโกง เอกชนไม่รับผิดชอบสังคม รัฐบาลแก้ปัญหาแบบปิดปลาสเตอร์ หากล่าช้ากระทบทั้งเศรษฐกิจ ชุมชน คนตกงาน
วันที่ 5 มี.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายอานัน ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันนักข่าวปี 2553 ในวาระครบรอบ 55 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวในหัวข้อ “การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนท่ามกลางวิกฤติ” ว่า ปีที่ผ่านมาไทยประสบวิกฤติมากมาย แต่หลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก ทำให้ผลกระทบเบาบางลงทั้งด้านการลงทุนของภาคเอกชนและภาวะการจ้างงาน การขยับตัวของสินค้าเกษตร ซึ่งในปี 2553 ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้นจากเดิม 3.5% - 4.5%
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ว่า เกิดจากความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันเพราะในอดีตที่มีการคอรัปชั่นของข้าราชการ ความมักง่ายของเอกชน ซึ่งแม้วันนี้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งได้วางกรอบการทำงานไว้ชัดเจน แต่ก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะทุกฝ่ายยังไม่มีความเชื่อมั่น
“แนวทางการสร้างความเชื่อมั่นไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจหรือการเมือง รัฐบาลต้องทำบนพื้นฐานความจริง ให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน และต้องสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เกิดขึ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายอานันท์ กล่าวในหัวข้อ “แนวทางการแก้ไขปัญหาการลงทุนกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” ว่า นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมีแผนรองรับที่ดีระหว่างชุมชนกับโรงงาน แต่ผ่านไป 20 ปี เอกชนได้ขยับขยายพื้นที่รุกล้ำพื้นที่กันชน โดยสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หน่วยงานส่วนกลาง เจ้าของโรงงานไม่รับผิดชอบต่อสังคม รัฐขาดระบบเฝ้าระวังแต่แก้ปัญหาเหมือนปิดพลาสเตอร์เยียวยาชั่วคราว
“ความโปร่งใสจึงไม่เกิด ไม่มีความไว้ใจกัน เช่น เมื่อมีปัญหาและกฎหมายกำหนดให้ทำประชาพิจารณ์จึงค่อยมาเริ่มทำ ทั้งที่กระบวนการมีส่วนร่วมต้องทำตั้งแต่ต้นทาง” นายอานันท์ กล่าว
อดีตนากยกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ในส่วนของหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) และการทำประชาพิจารณ์ผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ยังเหลือการประสานเพื่อให้เกิดองค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ในการให้ความเห็นประกอบการพิจารณา ซึ่งจากเดิมกำหนดว่าจะตั้งได้ต้นเดือนมี.ค. อาจต้องเลื่อนไปอีก 3 สัปดาห์ เพราะมีปัญหาช่วงเวลารับสมัครคณะกรรมการบริหาร
นายอานันท์ ยืนยันว่า คณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์กรอิสระ มีหน้าที่สร้างหลักเกณฑ์ให้เกิดการจัดตั้งองค์กรอิสระได้เท่านั้น ไม่มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติโครงการให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ส่วนที่จะมีการฟ้องร้องให้เพิกถอนคณะกรรมการชุดนี้คงเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่สามารถทำได้ แต่หากการแก้ปัญหามาบตาพุดล่าช้าออกไปไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศ แต่รวมถึงต่อชาวบ้านในพื้นที่ และมีคนตกงานกว่า 10,000 คนซึ่งเป็นปัญหาสังคม
“หวังว่านักการเมือง ข้าราชการ นายกรัฐมนตรี อุตสาหกรรม จะกลับตัวทัน มีทัศนคติ กระตือรือร้นเอาใจใส่ในหน้าที่ จริงใจไม่คดโกง ถึงวันนั้นเมื่อไร จะไม่มีเหตุการณ์แบบมาบตาพุดเกิดขึ้นอีกในประเทศไทย” นายอานันท์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ในงานวันนักข่าว ยังมีการประกาศรางวัลอิศรา อมันตกุล ประจำปี 2552 โดยรางวัลข่าวดีเด่น คือ เปิดโปงทุจริตพอเพียง ยับยั้งแผนรุมทึ้งไทยเข้มแข็ง สธ. จากมติชน, รางวัลข่าวชมเชย คือ เปิดโปง รพ.โกงเงินแสนล้าน สปสช.ตีแผ่ปัญหาเบิกค่า"สเต็นท์"เกินจริง จากเดลินิวส์ และ"มลพิษมาบตาพุด จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทย" จากประชาชาติธุรกิจ, ภาพข่าวยอดเยี่ยม คือ ไล่ขวิด จากบางกอกโพสต์ ภาพข่าวชมเชย คือ สงครามกลางเมือง จากมติชน และคลายหนาว จากบางกอกโพสต์ ส่วนรางวัลข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดีเด่น คือ ข่าวดับแผนขุดทรายให้สิงคโปร์ ปกป้องทรัพยากรมีค่าไทย จากมติชน รางวัลชมเชย คือ ข่าวมลพิษมาบตาพุด จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมไทย จากกรุงเทพธุรกิจ และค้านระงับสร้างรูปปั้นกวนอิมรุกที่หลวง บดบังสะพานข้ามแม่น้ำแคว จากไทยรัฐ .