เผย'30 บาท-หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า'เอาชนะทฤษฎีไม้ไอติม คนครึ่งประเทศพอใจ
วิโรจน์ ณ ระนอง เปิดผลวิจัยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบคนครึ่งประเทศพอใจ ยันลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของกลุ่มคนจนได้จริง พร้อมแนะการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ปัญหาก่อนย่อมทำให้เกิดความเสียหาย
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงงานวิจัยเรื่อง "การใช้ข้อมูลการสำรวจมาวัดผลกระทบของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน และการสร้างดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ว่า งานวิจัยนี้พยายามจะทำลายมายาคติบางอย่าง ในการตีความงานวิจัยในวงเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่ยังไม่ค่อยมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล
หัวหน้าคณะวิจัย กล่าวถึงการศึกษานี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย การศึกษาผลกระทบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน,ดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และแนวทางและทางเลือกในการสร้างตัวแบบสำหรับการวิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ จากเงินอุดหนุนของภาครัฐในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ในเรื่องผลกระทบของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจน พบว่า ในปี 2545 หลังจากมีโครงการฯ ครัวเรือนทั่วประเทศ สามารถลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลได้ ประมาณ 7,425-10,247 ล้านบาท และในปี 2547 ลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 12,824-14,111 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบของการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเปรียบเทียบจากช่วงปี 2529-2531 กับช่วงปี 2545-2547 พบว่า ครัวเรือนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประมาณ 21,223-44,482 ล้านบาท ในปี 2545 และเพิ่มขึ้นประมาณ 29,150-53,004 ล้านบาท ในปี 2547
ดร.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า เมื่อดูผลกระทบต่อความยากจน คนที่ยากจนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงชัดเจนในช่วงปี 2545 และปี 2547 แสดงให้เห็นว่า โครงการนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้จริง ประชาชนในชนบทได้รับประโยชน์มากกว่าประชาชนในเขตเมือง ถือว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประสบความสำเร็จในการลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของกลุ่มคนจนที่สุดลง จนแทบจะหมดไปในช่วง 3 ปีแรกของโครงการ
“คนส่วนใหญ่ชอบบอกว่าเป็นเรื่องการส่งไม้ไอติมที่รัฐส่งเงินไป 1บาท อาจจะเหลือเพียง 50 สตางค์ เมื่อรัฐใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประชาชนก็ต้องใช้จ่ายลดลง ต้องใกล้เคียงกันจึงถือได้ว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเอาชนะปรากฏการณ์หรือทฤษฎีไม้ไอติม ซึ่งมักเป็นปัญหาใหญ่ของโครงการภาครัฐ”
การศึกษาเรื่องดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพนั้น ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ได้ศึกษาจำนวนประชาชนที่จนเพราะรายจ่ายด้านสุขภาพ ศึกษาการกระจายผลประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้จ่ายของรัฐ หรือ ดัชนีชี้ความก้าวหน้าของการจ่ายเงิน พบว่า ครัวเรือนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนไม่มาก มีจำนวนมากที่มีโอกาสตกหล่มความยากจนจากการที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่แทบไม่มีครัวเรือนที่รวยตกอยู่ใต้เส้นความยากจนเนื่องจากการมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเลย ซึ่งทั่วไปแล้วครัวเรือนที่มีฐานะดีสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่สูงกว่าร้อยละ 10 ของค่าใช้จ่ายรวมได้โดยไม่ลำบาก ขณะเดียวกัน สินค้าหรือบริการสุขภาพเป็นสินค้าที่คนมีแนวโน้มบริโภคในสัดส่วนที่สูงขึ้น เมื่อมีรายได้สูงขึ้นด้วย
“แม้ว่าคนจนจะได้ประโยชน์จากโครงการ 30 บาท มากกว่าคนรวย แต่เมื่อมาคำนวณหาประโยชน์ที่คนฐานะต่างๆ ได้รับจากการใช้จ่ายด้านสุขภาพของภาครัฐในภาพรวม รวมโครงการสวัสดิการข้าราชการ เฉลี่ยแล้วเป็น 5 เท่าของบัตรทอง และโครงการอื่นๆ ที่รัฐจ่ายสมทบด้วย เช่น โครงการประกันสังคมจะพบว่าในภาพรวมแล้วคนรวยได้รับประโยชน์มากกว่าคนจน” นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า ถ้าจะให้มีความเป็นธรรมด้านสุขภาพทุกคนต้องได้เท่ากันไม่ใช่ประโยชน์ตกที่กลุ่ม 20% บนของประเทศ
ดร.วิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า การกำหนดนโยบายที่สำคัญด้านสาธารณสุข ควรอาศัยการศึกษาวิจัยที่มีตัวชี้วัดและวิธีการตีความข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะนโยบายมีผลกับประชาชนจำนวนมาก หากมีการกำหนดนโยบายหรือการประเมินผลที่เป็นผลมาจากการใช้ตัวชี้วัดหรือการตีความข้อมูลที่บกพร่องก็อาจทำให้นโยบายหรือมาตรการที่นำมาใช้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาและสร้างความเดือดร้อนกับประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้
“งานวิจัยชิ้นนี้ ไม่ได้มุ่งที่จะหาทางแก้ปัญหา หากให้เข้าใจว่า การจะเสนอแก้ปัญหานั้นควรจะเข้าใจปัญหาให้ชัดเจนก่อน การเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ปัญหาก่อนย่อมทำให้เกิดความเสียหายได้”
เมื่อถามถึงการจัดเก็บภาษีเพื่อนำมาอุดหนุนนโยบายด้านสุขภาพ ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า ทีดีอาร์ไอเคยศึกษาภาษีของประเทศไทย พบภาษีของไทยเกือบจะเป็นกลางทางรายได้ คือ คนจนคนรวยรับภาระภาษีไม่ค่อยต่างกัน ภาษีทางตรงคนรวยที่มีรายได้จากเงินเดือนเสียมากกว่าคนจนชัดเจน ส่วนภาษีทางอ้อมคนจนจะรับภาระมากกว่า
“ปัญหาใหญ่เรื่องภาษีของไทยคือ มีการจ่ายภาษีเพียงร้อยละ 16 ของรายได้ทั้งประเทศ ซึ่งรวมภาษีทั้งทางตรงและอ้อม จำนวนเท่านี้ไม่พอที่จะจัดสวัสดิการที่ดี หากต้องการจัดสวัสดิการที่ดีจริงๆ คนทั้งประเทศควรต้องรับภาระมากกว่านี้ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน เพราะเก็บกับคนรวยไม่พอ”
สุดท้าย ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาหนักของระบบสุขภาพของไทย คือสวัสดิการข้าราชการ ที่ต้องใช้งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมคนแค่ 4 ล้านคน ขณะที่โครงการ 30 บาทใช้งบประมาณกว่าแสนล้านบาท ครอบคลุมคน 47 ล้านคน ซึ่งเมื่อไปสำรวจจะพบว่า คน 80% พอใจ ฉะนั้น โครงการแบบนี้จะอยู่ต่อไปได้เพราะในทางการเมืองคนครึ่งประเทศพอใจ