จุฬาฯ คว้า 6 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ปี 2552
วช.ประกาศผลรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2552 พบอาจารย์จากจุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิจัยดีเด่นฯ ไปครองมากสุด ขณะที่คุณหญิงกัลยา หวังความสำเร็จครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงกระตุ้นให้มีการศึกษาในระดับสูงต่อไป
วันนี้ (2 ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงานวันนักประดิษฐ์ขึ้น ระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.2553 ณ ศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค เมืองทองธานี มีดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวว่า การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีความคิดความสามารถในเชิงประดิษฐ์ คิดค้น วิจัย และพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ การขาดซึ่งการคิดค้น วิจัย และพัฒนาแล้วจะทำให้ไทยเป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไม่ได้ โดยหวังว่า ความสำเร็จของนักวิจัย นักประดิษฐ์ จะเป็นแบบอย่าง ให้แก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ทั้งหลายและสร้างแรงกระตุ้นให้มีการศึกษาในระดับสูงต่อไป
ด้านนางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการจัดงานวันนักประดิษฐ์ว่า จัดมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่ทรงคิดประดิษฐ์ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือกังหันชัยพัฒนา และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2536 จากความสำคัญดังกล่าว วช.จึงส่งเสริมและสนับสนุนการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและความมั่นคงของประเทศ
จากนั้นศ.ดร.ธีระ สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2552 ประกอบด้วยรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 9 ท่าน ใน 7 สาขาวิชาการ รางวัลผลงานวิจัย 9 เรื่อง จาก 7 สาขาวิชาการ รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 35 เรื่องจาก 9 สาขาวิชาการ และรางวัลนักประดิษฐ์คิดค้นฝีมือคนไทย รวมทั้งสิ้น 35 รางวัล 35 ผลงาน จากทั้งหมด 162 ผลงาน
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผลรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติปีนี้ มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้านักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ไปครองถึง 6 ราย รวมทั้งผลงานวิจัยด้านการติดตามประเมินผลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2(2545-2564) คว้ารางวัล 1 ใน 3 ของผลงานวิจัยระดับดีเด่น
ขณะที่โครงการวิจัยการใช้ข้อมูลการสำรวจมาวัดผลกระทบโครงการ 30 บาทและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและการลดความยากจนและการสร้างดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ของดร.วิโรจน์ ณ ระนอง รศ.อัญชนา ณ ระนอง และนายอรรถกฤต เล็กศิวิไล เป็น 1 ใน 3 เรื่องที่ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่น ในปีนี้เช่นกัน