ก.วิทย์ฯ ผุด “เมืองวิทยาศาสตร์อมตะ” รองรับสมองไหลกลับ
ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางวิจัยแห่งอาเซียน มุ่งพัฒนาความเข้มแข็งการวิจัย-ฐานการผลิต เชื่อมการศึกษา-อุตสาหกรรมนำผลวิจัยไปใช้จริง พร้อมดึง 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าร่วม คาดเปิดตัวปลายปีนี้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (7 ม.ค.) ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และบริษัทอมตะ คอปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการเมืองวิทยาศาสตร์อมตะ” โดยมีองค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม
คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงโครงการเมืองวิทยาศาสตร์อมตะว่า เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างเอกชนกับรัฐในการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์ในลักษณะ PPP (Public Private Partnership) เพื่อเพิ่มระดับศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นประเทศฐานการผลิตที่มีศักยภาพการพัฒนาและการวิจัยผลิตภัณฑ์ ทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัย และพร้อมจะเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและพัฒนาของอาเซียนและกลุ่มประเทศ BIMSTEC อีกด้วย
คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เมืองวิทยาศาสตร์แห่งนี้จะเป็นสถานที่สำคัญที่จะรองรับบุคลากรไทยที่มีศักยภาพกลับประเทศไทยหรือสมองไหลกลับ ซึ่งจะนำความรู้ความสามารถกลับมาถ่ายทอดให้กับคนไทยรุ่นใหม่ได้และพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ให้มีศักยภาพสูงขึ้นในอนาคต เชื่อว่า จะทำให้เกิดกระบวนการวิจัย การพัฒนา และการผลิตที่ครบวงจร ถือเป็นโอกาสสำหรับนวัตกรรมใหม่ของไทย พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างแท้จริง
“บทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะมีมากขึ้นต่อความอยู่รอดของทุกๆประเทศ เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ในการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม แก้ปัญหาความยากจน โดยจะนำผลงานไปต่อยอดช่วยสร้างเพิ่มมูลค่าเพิ่มและลดต้นทุนได้ในที่สุด” รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์อมตะนั้น ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์อมตะ กล่าวว่า สวทช.ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างสวทช.กับบริษัทอมตะขึ้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ มีการวางแผนจะสรรหาบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ให้แล้วเสร็จคาดว่าภายในเดือนมกราคมนี้ และคาดว่าจะทราบผลรายงานโครงการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์อมตะภายใน 4-6 เดือนข้างหน้า
ด้านนางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่ธุรกิจ บริษัทอมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะเป็นฐานการผลิตส่งออกที่สำคัญของไทยมีกว่า 30 ชาติที่ลงทุนในนิคมและกว่า 700 โรงงาน ซึ่งเห็นความสำคัญของการพัฒนางานวิจัย การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ การพัฒนาเทคโนโลยี จึงคิดจะพัฒนาเมืองวิทยาศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรกโดยความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน คือ สวทช. เพื่อเป็นสมองของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการค้นคว้า การวิจัยเต็มรูปแบบจากห้องปฏิบัติการ นำไปสู่การผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆให้สมบูรณ์ต่อไป
นางสมหะทัย กล่าวอีกว่า ทางนิคมจะช่วยในเรื่องของพื้นที่โครงการและสาธารณูปโภคซึ่งสามารถขยายได้เรื่อยๆ ตามความต้องการของตลาดสามารถยืดหยุ่นได้ในเรื่องพื้นที่ โดยทางรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องแผนดำเนินการ ใบอนุญาตและดึงองค์กรต่างๆ ส่วนภาคเอกชนก็เข้าร่วมได้ เราหวังมุ่งพัฒนาฐานการผลิต ฐานการวิจัยและพัฒนาควบคู่กัน สำหรับมหาวิทยาลัยที่จะเข้าร่วมจะต้องมีเรื่องการวิจัย ผลงานวิจัย นักวิจัย เทคโนโลยี เครื่องมือ ซึ่งในระยะเริ่มโครงการ คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 2-3 ร้อยล้านบาท
“รูปแบบเมืองวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ ในต่างประเทศมีแล้วไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สเปน สิงคโปร์ ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น โดยเมืองวิทยาศาสตร์จะเกิดขึ้นได้ต้องมีเมืองการศึกษา เมืองมหาวิทยาลัยจริงๆ เป็นการวิจัยสองทิศทางความรู้จากสถาบันสู่อุตสาหกรรม และความต้องการจากอุตสาหกรรมสู่สถาบัน เพื่อพัฒนาต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนาไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอย่างแท้จริง ซึ่งเราอยากทำให้อุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าได้ แข่งขันกับประเทศอื่นได้”นางสมหะทัย กล่าว
สำหรับความร่วมมือในการจัดตั้งเมืองวิทยาศาสตร์อมตะนั้น ประกอบด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เอกอัครราชฑูตสาธารณรัฐสังคมนิคมเวียดนามประจำประเทศไทย ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หอการค้าญี่ปุ่น บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่ง ดังนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย