บุหรงช้าง-บุหรงดอกทู่ พืชใหม่ของโลก อุดมด้วยสารต้านมะเร็ง
วว. พบบุหรงพันธุ์ใหม่ของโลก ต่อยอดงานวิจัยด้านการขยายพันธุ์ พร้อมหาแนวทางใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรมหวังเป็นยาต้านมะเร็ง เร่งอนุรักษ์เป็นพรรณไม้ที่ยั่งยืน
วันที่ 23 ธ.ค.52 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บางเขน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวการค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลก บุหรงช้าง บุหรงดอกทู่ โดยดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ วว. เป็นผู้ค้นพบและตั้งชื่อบุหรงชนิดใหม่ โดยพรรณไม้ทั้ง 2 ชนิดได้มีการตรวจสอบการตั้งชื่อและนำไปตีพิมพ์รายงานในวารสารSystematic Botanyของสหรัฐอเมริกา
ดร.ปิยะ กล่าวถึงการค้นพบบุหรงช้าง ว่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ Dasymaschalon grandiflorum Jing Wang ,chalermglin& R.M.K.saundersได้มีการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2544 ใน ป่าดิบชื้นของอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เป็นบุหรงเพียงชนิดเดียวที่เป็นเถาไม้เลื้อย ขณะที่บุหรงชนิดอื่นจะมีลักษณะเป็นไม้พุ่ม และมีดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลบุหรง ดอกบานในเดือนกุมภาพันธ์ เดือนเมษายน
ขณะที่บุหรงดอกทู่ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dasymaschalon Obtusipetalum Jing Wang,Chalermglin and R.M.K.saunders มีการสำรวจค้นพบมานานหลายปีแล้ว มีลักษณะเป็นไม้พุ่มสูง 4-6 เมตร พบในป่าดิบเขาของอำเภอแม่ฟ้าหลวงและอำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ออกดอกในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน
“เนื่องด้วยบุหรงช้างมีถิ่นกำเนิดที่จังหวัดนราธิวาส ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบอยู่และอยู่ในพื้นที่ยากลำบากในการเข้าไปสำรวจ ทำให้ไม่สามารถเอาบุหรงชนิดนี้มาศึกษาและขยายพันธุ์ได้ แต่ถ้าในอนาคตเหตุการณ์มีความสงบหรือสามารถหาจากแหล่งอื่นได้ก็จะได้นำมาขยายพันธุ์ต่อไป ส่วนบุหรงดอกทู่พบมานานแล้ว ใช้เวลาในการตรวจสอบศึกษาขยายพันธุ์ จนขณะนี้ประสบความสำเร็จ และอาจจะเป็นตัวหนึ่งที่จะนำมาใช้เรื่องสมุนไพรและเป็นไม้ประดับได้ ในอนาคตคาดว่าจะมีความนิยมปลูกกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่พบในประเทศไทย”ผู้เชี่ยวชาญวว.กล่าว
ดร.ปิยะ กล่าวถึงการต่อยอดงานวิจัยหลังจากการสำรวจพบพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ว่า ขณะนี้ วว. ได้ทำการศึกษาสารเคมีที่มีอยู่ในบุหรงดอกทู่พบว่าสารที่อยู่ในตัวบุหรงชนิดนี้สามารถนำมาใช้ในการต้านเชื้อมะเร็งในระดับหลอดทดลอง ฉะนั้นถ้าในอนาคตงานวิจัยด้านนี้ประสบความสำเร็จหรือเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ด้านเภสัชกรรมอย่างยิ่ง
“หลังได้ค้นพบทาง วว.จะทำการขยายพันธุ์เพื่อจะทำให้มีจำนวนที่มากขึ้น จากนั้นจะนำมาศึกษาทั้งจากหน่วยงาน วว. เองหรือร่วมศึกษากับหน่วยงานอื่นที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ด้านเภสัชกรรมได้มีการศึกษาว่าในต้น ใบ และดอก มีสารสำคัญอะไรบ้าง มีสูตรโครงสร้างอย่างไร เพื่อเอาสารตัวนี้ไปใช้ประโยชน์ เช่น เอาไปใช้เป็นสารต้านมะเร็งหรือเอาไปใช้ร่วมกับสารชนิดอื่น เพราะสารที่อยู่ในบุหรงส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง”ดร.ปิยะ กล่าว