นักวิจัยห่วงการทำงานด้านพันธุศาสตร์ประชากรของไทยล้าหลัง
นักวิจัยไทยเจ๋ง ร่วมทีมนานาชาติ ตามรอยประชากรภูมิภาคเอเชียสำเร็จ และได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก เผยข้อมูลที่ได้มีความสำคัญสำหรับที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาทางการแพทย์การใช้ยาของไทยต่อไป
วันที่ 11 ธ.ค.52 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว “นักวิจัยไทยร่วมทีมนานาชาติ ตามรอยประชากรภูมิภาคเอเชียสำเร็จ และได้รับการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Science”นำทีมโดย รศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร.ดาวรุ่ง กังวานพงศ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติรศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของสวทช.ต่อการสนับสนุนงานวิจัยด้านจีโนมและพันธุกรรมมนุษย์ว่า ทางสวทช.ได้มีการผลักดันและสนับสนุนการวิจัยทางด้านจีโนมและพันธุกรรมมาอย่างต่อเนื่อง พยายามสนับสนุนให้นักวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ของประเทศไทยมีการทำงานร่วมกันและเป็นสื่อกลางในการประสานกับนักวิจัยด้านจีโนมในระดับนานาชาติมากขึ้น สำหรับข้อมูลทางพันธุกรรมที่ได้จากการวิจัยโครงการตามรอยชาติพันธุ์ของประชากรภูมิภาคเอเชีย และโครงการอื่นๆที่สวทช.ได้ทำการสนับสนุนมีการเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลที่ศูนย์ไบโอเทค
“การวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านพันธุกรรมมนุษย์ ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคและผลของการใช้ยาต่างๆมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติในการตรวจทางพันธุกรรมก่อนจะให้ยาแต่ละชนิด มีความจำเป็นที่ประเทศต่างๆจะต้องทราบโครงสร้างพันธุกรรมของประชากรในประเทศนั้นๆ เพื่อเป็นฐานในการวินิจฉัยอัตราเสี่ยงของโรค หรือการป้องกันรักษาให้มีประสิทธิภาพรวมถึงลดการแพ้ยา” รศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
สำหรับวัตถุประสงค์ของการวิจัยความหลากหลายทางพันธุกรรมและแหล่งกำเนิดของประชากรในเอเชีย รองผอ.สวทช.กล่าวว่า เพื่อศึกษาที่มาของประชากรในภูมิภาคเอเชียจากข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมจากข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยและข้อมูลทางภาษาศาสตร์ของประชากรในแต่ละเชื้อชาติที่เคยมีการศึกษามาก่อน ในการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่มีการร่วมมือในภูมิภาคเอเชียที่มีนักวิทยาศาสตร์รวมมากกว่า 90 คนจากThe Human Genome Organization’s (HUGO’s) Pan Asian SNP Consortium ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย
“ในประเทศไทยนำโดย ศ.นพ.สุทัศน์ ได้เริ่มต้นโครงการมาหลายปี และมีทีมวิจัยของรศ.ดร.ดาวรุ่ง เป็นทีมทำงานหลักที่ได้มีการเก็บตัวอย่างจากชาวเขาเผ่าต่างๆ จำนวน13 กลุ่มทางภาคเหนือของประเทศไทย รวมถึงการศึกษาทางพันธุกรรมกับสถาบันจีโนมที่สิงคโปร์ โครงการนี้มีการศึกษาประชากร 75 กลุ่ม ประชากร 2,000 คน งานที่ทีมวิจัยของไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง คือ การวิเคราะห์ข้อมูลโครงสร้างของประชากรที่นำโดยทีมของดร.ศิศเฎศ รวมทั้งมีการอภิปรายถึงผลการวิจัยและเขียนบทความวิจัยและในที่สุดได้มีการตีพิมพ์ในวารสารScience ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก” รองผอ.สวทช.กล่าว
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า เป็นความสำเร็จของคนไทย กระทรวงฯ ได้มีการสนับสนุนทางด้านการวิจัยโดยเฉพาะด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต ทั้งสัตว์ พืชและคน เมื่อมีการระบาดของโรคแต่ละครั้งทางกระทรวงฯ มีส่วนรวมในการวิจัยการพัฒนา เช่น มีเครื่องตรวจโรคที่สามารถตรวจได้รวดเร็วและแม่นยำรวมทั้งมีการผลิตวัคซีนต้นแบบที่ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลต่างๆจนสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบได้
“งานวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าสามารถทำให้คุณภาพชีวิของมนุษย์ดีขึ้น แม้ทางด้านการเงินอาจจะได้เงินน้อยลง แต่ด้านการใช้ยาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้พัฒนามากขึ้น และทำให้แพทย์ไทยนำความรู้นี้ไปใช้กับคนไข้ได้ในอนาคตรวมถึงจะมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง”รมว.วิทยาศาสตร์กล่าว
ศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของโครงการวิจัยนี้ว่า งานวิจัยนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2000 มีนักวิจัย 90 คนมีหน่วยวิจัยและสถาบันวิจัย 10 ประเทศ 40 สถาบันเข้าร่วมใช้เวลาเตรียมการ 3 ปี แต่ที่ประเทศไทยได้มีส่วนเกี่ยวข้องมากคือเมื่อปี 2002 ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม HUGO’sแปซิฟิกที่พัทยา จนเป็นที่มาที่สำคัญของการเริ่มต้นในปี 2004 ที่ได้ประชุมอย่างต่อเนื่องอีกครั้งที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะมาเป็นการศึกษาเรื่องความเป็นมาของมนุษยชาติในแถบเอเชีย
“ใช้เวลาตั้งแต่ปี 2004 – 2007 กว่าผลงานชิ้นนี้จะได้ตีพิมพ์ จากผลการศึกษามีการค้านทฤษฏีเดิมและมีการเสนอทฤษฏีใหม่เกี่ยวกับการอพยพเคลื่อนย้ายของมนุษย์เข้าไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าจะเป็นการอพยพหลายระลอกจากทั้งทางใต้และทางเหนืออย่างที่เคยมีผู้เสนอไว้ก่อนหน้า ข้อมูลที่ได้มีความสำคัญมากสำหรับที่จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาทางการแพทย์การใช้ยาของไทยต่อไป และความถี่ของความหลากหลายทางพันธุกรรมของมนุษย์ของประชาการใดประชากรหนึ่งของประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ต้องทำการศึกษาเองไม่สามารถไปอ้างอิงจากของต่างประเทศได้อย่างเดียวเท่านั้น นั้นคือเหตุผลที่จะต้องทำ” ศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว
ด้านรศ.ดร.ดาวรุ่ง กล่าวว่า ในประเทศไทยมีความหลากหลายของชาติพันธุ์สูงมากและในแต่ละภาคก็ไม่เหมือนกัน จากการศึกษาทำให้เห็นภาพของประชาการชัดขึ้น มีการเก็บตัวอย่างเลือดของชนพื้นเมืองของแต่ละประเทศ ในประเทศไทยจะมีการเก็บตัวอย่างเลือดจากชาวเขาเผ่าต่างๆจำนวน 13 เผ่ารวม 256คนได้แก่ กะเหรี่ยง แม้ว เย้า ไทยวน ไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ลัวะ มอญ ถิ่น ปะหล่อง พล่าง และมลาบรี เมื่อได้เลือดมาแล้วจะนำไปทำจีโนไทป์ที่สิงคโปร์
“ผลทางพันธุศาสตร์ที่ได้สามารถนำมาเสริมทางด้านประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมตั้งแต่ดั้งเดิมที่มีอยู่ได้ ทำให้รู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมกับกลุ่มชนในภาษาเดียวกันจะอยู่ใกล้ชิดกันมาก คนที่พูดภาษาเดียวกันใกล้เคียงกันมักมีพันธุกรรมคล้ายกัน แต่การทำงานด้านพันธุศาสตร์ประชากรของไทยล้าหลังมากและบุคคลากรที่ทำงานด้านนี้มีน้อยต่างจากการแพทย์ที่ก้าวหน้า ดังนั้นต้องพัฒนาเรื่องนี้ให้มาก”รศ.ดร.ดาวรุ่ง กล่าว
ดร.ศิษเฎศ กล่าวว่า สิ่งที่เข้าไปช่วยคือส่วนของการวิเคราะห์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าชีวสารสนเทศ เข้าไปทำการวิเคราะห์โครงสร้างของประชากร มีการจัดสร้างฐานข้อมูลที่ทำการเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของความหลากหลายของประชากร สามารถนำความรู้จากการศึกษาไปใช้ในงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น ระบาดวิทยาพันธุศาสตร์ นิติวิทยาศาสตร์ และพันธุศาสตร์ประชากร