วอนนายกฯ กล้าตัดสินใจ ทบทวนข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการรุนแรง
ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ หมอชูชัย วอน นายกฯ กล้าตัดสินใจ ทบทวน ข้อเสนอ 18 ประเภทกิจการรุนแรง ชี้ศึกษานาน 8 เดือน ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
วันนี้ (31 ส.ค.53) เวลา 13.15 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาลภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2553 ตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2553 (นัดพิเศษ) ( 23 ส.ค.) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่ไม่ได้เขียนลงไปในประกาศก็คือส่วนที่เสนอว่าไปกำกับในตัวพื้นที่ด้วย เช่น ที่บอกโครงการที่ต้องทำ EIA แต่ไปอยู่ในพื้นที่ เช่น มรดกโลก อุทยานประวัติศาสตร์ สิ่งก่อสร้างที่ลุกล้ำเข้าไปในทะเลในพื้นที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งตัวพื้นที่ที่จะต้องระบุ เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวพื้นที่ไหนและ พื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนพื้นที่ไหนนั้น ที่จะต้องมอบอำนาจให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ และคณะผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นผู้ประกาศ ตนก็ได้สอบถามทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สามารถเขียนเป็นประกาศทั่วไปอย่างนี้ แล้วระบุว่าเป็นอำนาจของกรรมการไปประกาศได้หรือไม่ ในเบื้องต้นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า ไม่ควรจะใช้รูปแบบนี้ ซึ่งก็รับไปดูว่าจะทำเป็นรูปแบบใด
"ประกาศที่ออกเป็นประกาศตามมาตรา 46 ของกฎหมายของสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าที่จะไปประกาศในลักษณะที่ไปกำกับอีกว่าให้มีอำนาจของคณะกรรมการกำหนดพื้นที่นั้น อาจจะไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งก็กำลังไปดู" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการออกประกาศ 11 ประเภทของกิจการต้องห้ามในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในขั้นของการส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งก็เป็นไปตามขั้นตอนปกติ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจถ้อยคำและรูปแบบเรียบร้อยเสร็จ ก็จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้
ต่อข้อถามว่า มีกลุ่มเอ็นจีโอคัดค้านประกาศนี้ เพราะไม่ตรงกับมีการเสนอเข้าไปในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้สิ่งที่ตรงกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเสนอ ก็มีคนคัดค้าน ซึ่งคงไม่สามารถที่จะให้ตรงกับความคิดเห็นของทุกฝ่ายได้ แต่ยืนยันในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ได้นำเอาสิ่งที่เป็นความตั้งใจของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาดูอย่างครบถ้วน ตัวอย่าง ปัญหาของเตาเผาขยะติดเชื้อ ปัญหาของสูบน้ำเกลือใต้ดิน ก็ไม่ได้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพียงแต่ที่ไม่ประกาศเพราะตอนนี้มันไม่มีประโยชน์ที่จะประกาศ เช่น การสูบน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งได้ห้ามแล้ว ถ้าไปประกาศ ก็จะหมายความว่าอาจจะทำได้ แต่นี่ไม่ประกาศเพราะห้ามแล้วไม่ให้ทำ ฉะนั้นจะบอกว่าไม่ตรงแล้วแปลว่าขัดกัน ก็ไม่ใช่ เจตนาน่าจะตรงกัน แต่เข้มกว่า
"บางเรื่องก็ยอมรับว่าคณะกรรมการฯ ก็เห็นว่า เดิมไม่ได้แม้แต่ต้องทำ EIA ด้วยซ้ำจะประกาศรุนแรงเลยก็อาจจะกระไรอยู่ ก็เริ่มต้นจากการให้ทำ EIA ก่อน และรัฐบาลก็ได้ออกประกาศโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ว่า ถ้ามีโครงไหนที่ไม่อยู่ในกิจการที่ประกาศแต่เห็นว่ามีผลกระทบรุนแรงก็สามารถอุทธรณ์ได้ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ได้ประกาศไปนั้น น่าจะอยู่บนความพอดี และบางเรื่องเข้มกว่า เช่น การปรับแต่สารกัมมันตรังสีเดิมไปเว้นโรงพยาบาลนั้น เรายังไม่เว้นโรงพยาบาล โดยบอกว่าถึงโรงพยาบาลถ้าเป็นการปรับแต่งกัมมันตรังสีก็ต้องเข้า ฉะนั้นบางอันก็เข้มกว่า บางอันก็น้อยกว่า บางอันรูปแบบประกาศที่ต้องไปดู เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ละเลยในความห่วงใยของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมการด้านสุขภาพของคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหามาบตาพุด กล่าวว่า ได้เสนอแนะให้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกยื่นข้อเสนอถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พิจารณาทบทวนข้อเสนอ 18 ประเภทโครงการกิจการที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและสุขภาพ ตามที่คณะกรรมการสี่ฝ่ายได้ใช้เวลาถึง 8 เดือนในการศึกษาและรับฟังความเห็นจากทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีจะได้นำมติจากทั้งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติรวมกันพิจารณาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป
“การอาศัยอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติออกประกาศเพียง 11 ประเภทโครงการกิจการที่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรง โดยขาดการพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพที่เพียงพอจะทำให้ปัญหามาบตาพุดขยายบานปลายออกไปทั่วประเทศ เพราะปัญหามลภาวะจากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาของประเทศชาติ ชุมชนรอบบริเวณโรงงานและผู้ใช้แรงงานได้สูญเสียชีวิต เจ็บป่วย พิการ อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่เงินกำไรจำนวนมากกับอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม”
นพ.ชูชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีนักวิชาการของไทยได้ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจำนวนมากโดยเฉพาะผลการศึกษาทางระบาดวิทยา ที่ศึกษาพื้นที่รอบมาบตาพุดในรัศมี 10 กิโลเมตร จึงขอเสนอให้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกนำหลักฐานเหล่านี้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและศาลปกครองด้วย ศาลปกครองอาจเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน หากรัฐบาลขาดภาวะการนำในการปรับเปลี่ยนทิศทางในการพัฒนาประเทศ ตนจึงขอให้นายกฯ ตัดสินใจเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด และ จากการรับฟังความเห็นจากผู้นำชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้ปฎิเสธการพัฒนาอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบและทำให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้ โดยต้องการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของประเทศ ต้องการเห็นภาคอุตสาหกรรมที่พัฒนาจากฐานทรัพยากรธรรมชาติของไทย และพัฒนาจากฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตไม่ทำลายชุมชน ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ