สสส.ดึง อบจ. ประสานท้องถิ่น ขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่ เสียงจากพื้นที่เสนอเริ่มต้นจากตำบล
หมอประเวศ แนะ อบจ.เป็นองค์กรนำทำงานเชิงนโยบายขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่โดยสร้างภาคีตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน สสส. ชี้เป้าหมายโครงการ 10 ปี สนับสนุนเบื้องต้น 3 ปีแรก เสียงจากพื้นที่เสนอว่าพัฒนาแบบบูรณาการต้องเริ่มขับเคลื่อนจากตำบล อำเภอ สู่ภาพใหญ่ระดับจังหวัด และสร้างพื้นที่นำร่อง
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่โรงแรมรามาการ์เด้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่ที่สุดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” โดย นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า โครงการจังหวัดน่าอยู่ที่สุด เป็นเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างสุขภาวะคนไทย โดยเริ่มจากการพัฒนาพื้นที่เล็กๆ สู่การพัฒนาระดับประเทศ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ขึ้นมาถึงระดับจังหวัด โดยมี อบจ. เป็นแกนหลักประสานงานเชื่อมโยงให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันของทุกฝ่ายไปสู่เป้าหมาย
นพ.สุภกร กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อสร้างภาคีโดยให้ อบจ.เป็นเจ้าภาพชักชวนภาคส่วนต่างๆในท้องถิ่นทั้งภาครัฐและภาคประชาชนมาร่วมกำหนดวิสัยทัศน์ “จังหวัดน่าอยู่" เบื้องต้นวางเป้าหมายดำเนินงานภายใน 10 ปี โดย สสส.จะสนับสนุนในช่วงระยะ 1- 3 ปีแรก คาดว่าประมาณเดือน มิ.ย. นี้ โครงการที่ผ่านการพิจารณาจะเริ่มดำเนินการได้
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า อบจ.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด สามารถทำหน้าที่เป็นองค์กรนำการพัฒนาท้องถิ่นแบบบูรณาการได้ โดยยึดหลักการทำงานคือ 1.สร้างภาคีทั้งหมด ตั้งแต่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จนถึงระดับจังหวัด และเป็นผู้นำกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ให้เกิดการพัฒนาที่มีส่วนร่วมและเข้าถึงประเด็นปัญหาแท้จริง 2.เก็บข้อมูลปัญหาในพื้นที่อย่างทั่วถึงและให้ประชาชนรับทราบเพื่อสร้างการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายที่แข็งแรง 3.ทำงานเชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียง 4.ประเมินผลงานของตนและจังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อน
จากการระดมความคิดเห็น “จังหวัดของเราจะน่าอยู่ที่สุดได้จริงหรือไม่” เห็นว่าโครงการขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่โดย อบจ.จะนำไปสู่การพัฒนาที่มีชุมชนเป็นฐานรากได้นั้นต้องคำนึงถึงปัญหาและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้การขับเคลื่อนระดับจังหวัดเป็นภาพที่ใหญ่เกินไปเนื่องจากพื้นที่และปัญหาปลีกย่อยค่อนข้างมาก ดังนั้นการพัฒนาแบบบูรณาการครอบคลุมทุกพื้นที่ควรเริ่มจากการขับเคลื่อนในระดับตำบลหรืออำเภอก่อน โดยกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างรูปธรรมต้นแบบ
นายกิตติศักดิ์ สินธุวนิช ประธานอนุกรรมการสนับสนุนงานบูรณาการ การสร้างเสริมสุขภาพ ตามแผนหลัก สสส. กล่าวว่า การขับเคลื่อนจังหวัดน่าอยู่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่มีกรอบไว้ก่อนเพื่อให้เกิดทิศทางร่วม โดย อบจ.มีบทบาทในฐานะองค์กรประสาน หนุนเสริมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่น และ อปท. เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดน่าอยู่ .