ก่อนโลกจะเฮี้ยวหนัก “มิ่งสรรพ์”กระตุ้นสังคมเยียวยาสิ่งแวดล้อม
ผอ.สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มช.ปลุกนักเศรษฐศาสตร์ตื่น หันกลับมาให้ความสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ยันไม่ได้แยกออกจากเรื่องเศรษฐกิจ ยกกรณีมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง พร้อมกระตุ้นสังคมไทยอย่าปล่อยให้เป็นวาระสุดท้ายของการดูแล
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมในทศวรรษหน้า ในการสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 เรื่องสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจไทย: ผลกระทบและแนวทางแก้ไข จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ หอประชุมศรีบูรพา วันนี้ (7 ก.ค.) ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้แยกออกจากปัญหาเศรษฐกิจ กรณีของมาบตาพุดเป็นตัวอย่าง ซึ่งสังคมไทยจะปล่อยให้เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นวาระสุดท้ายของการดูแลไม่ได้แล้ว
“ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่นักเศรษฐศาสตร์ต้องให้ความสนใจ วันนี้เรามีความสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ ดูจะเป็นเรื่องง่ายเกินไป หากไม่ได้ดูที่มาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจด้วย หลายเรื่องยังไม่ถูกมอง มองแต่เงิน เช่น ในอดีตชาวบ้านพึ่งพิงป่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากการเก็บเห็ด แต่วันนี้ป่าเสื่อมโทรม ชาวบ้านจะมีรายได้จากที่ไหน เป็นต้น”
สำหรับในต่างประเทศ จะใช้หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า คนไทยเริ่มรู้จักตั้งแต่ ค.ศ. 1992 แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครจ่ายค่าก่อมลพิษ โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เป็นผู้ก่อมลพิษมากสุด แต่กลับจ่ายน้อยที่สุด ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานครลงทุนในการจัดการดูแลน้ำเสียถึง 400 ล้านบาท แต่กลับไม่เก็บค่าบริหารจัดการ เพราะกลัวเสียคะแนนเสียงทางการเมือง ไม่มีใครอยากเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นผู้ก่อมลพิษไม่ต้องจ่าย แต่ผู้เสียภาษีกลับรับภาระนี้แทน
“รัฐบาลยุคนี้เป็นยุคที่นักเศรษฐศาสตร์ครองเมือง แต่กลับไม่มีการผลักดันเรื่องเศรษฐศาสตร์ หรือผลักดันเครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์มาควบคุมมลพิษแต่อย่างใด แม้กระทรวงการคลังได้ร่างกฎมายเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยในกฎหมายนี้ เราเรียกว่า ร่มใหญ่ (Umbrella Framework) ที่ครอบคลุมประเภทของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และประเภทมลพิษ ไว้ 6 ชนิด พร้อมจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ แต่ยังยังขาดการผลักดันจากรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องที่ทำเมื่อทศวรรษที่แล้ว”
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวอีกว่า ในทวีปเอเชียด้วยกัน ไทย เกือบเป็นประเทศสุดท้ายที่ไม่มีกฎหมายประเภทนี้ ซึ่งก็มี ไทย เขมร ลาว พม่า เหล่านี้ได้สะท้อนความเป็นอารยธรรมในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมว่า มีสูงขนาดไหน วันนี้อยากให้ทุกคนตื่นจากความฝันอันงดงาม ว่า ประเทศไทยมี Polluter Pays แม้จะมีบางจุด แต่ก็ถือว่าน้อยมาก เพราะเรามีรัฐบาลประชานิยม และรัฐบาลประชานิยมมากว่า ทำให้เราไม่สามารถทำสิ่งที่ควรจะทำได้
ประเด็นสิ่งแวดล้อมในทศวรรษหน้านั้น ผอ.สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มช. กล่าวว่า โลกปฏิวัติไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ผ่านมา เรียกว่า โลกเฮี้ยว ในเอเชียผลผลิตทางการเกษตร ข้าว จะได้รับผลกระทบหนัก พร้อมแสดงตัวเลขจากธนาคารโลกที่ได้คำนวณ ให้เห็นว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญขนาดไหน เช่น หากน้ำทะเลเพิ่ม 1 เมตร จะกระทบต่อเศรษฐกิจ 1.42 % ของจีดีพี หรือหากน้ำทะเลเพิ่ม 1 เมตร จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ฉะเชิงเทรา และกทม. เป็นจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบ และหากน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 2 เมตร สมุทรปราการจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด
“ปัญหาเศรษฐกิจใหญ่ เมื่อโลกร้อนขึ้น ผลกระทบจะแตกต่างกันตามพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นที่กระบี่ กับที่เชียงใหม่จะไม่เหมือนกัน แต่ปัญหาคือเชียงใหม่จะร้อนขึ้น จนไม่มีใครอยากไปเที่ยว ดังนั้น การท่องเที่ยวต้องให้ความรู้ผู้ประกอบการ เช่น เปลี่ยนแปลงการเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ จากกลางวันเป็นกลางคืน เป็นต้น ดังนั้นในทศวรรษนี้จะอยู่ในช่วงของการเตรียมข้อมูล เฝ้าระวัง ป้องกัน และปรับตัว โดยกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อการบริหารงานเสี่ยงภัย”
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวด้วยว่า เมื่อโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาใหญ่ ดังนั้น ควรที่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียก่อน แสวงหาพลังงานหมุนเวียนในอนาคต ขณะเดียวกันการบริหารจัดการของกระทรวงต่างๆ ต่างคนต่างทำงานไม่ได้แล้ว ปรากฎการณ์โลกร้อน ต้องมีการบริหารจัดการแบบบูรณาการ กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เนื่องจากปัญหาในพื้นที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งก็ควรถ่ายทอดความรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมให้มีความเข้มแข็งเพียงพอต่อการเผชิญโลกในวันข้างหน้าด้วย