แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เตรียมดัน สปส.ขึ้นสู่องค์การอิสระ
แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดเสวนา “ทัศนะและแนวทางปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ” หวังการปฏิรูปประกันนงานสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระโปร่งใส ขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรส
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมหลุยส์ แทรเวิร์น ดอนเมือง กรุงเทพฯ แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา “ทัศนะและแนวทางปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ” หวังการปฏิรูปประกันนงานสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระโปร่งใส ขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตน
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า การปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเพื่อให้สำนักงานประกันสังคมมีระบบที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งนโยบายเกี่ยวกับแรงงานการปฏิรูปให้มั่นคงนั้น แรงงานจะต้องได้รับสิทธิ์ด้านการดูแลให้ครอบคลุม โดยใจความสำคัญของการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ คือ 1.ต้องปฏิรูปตัวสำนักงานใหญ่ 2.ปรับปรุงสำงานเพื่อให้มีผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญในการปฏิรูปส่วนใดส่วนหนึ่งในสำนักงาน จากโครงสร้างหรือสำนักงานใหญ่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งการปฏิรูปตรงนี้เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้แรงงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในคณะกรรมการบริหารด้วย โดยจะมีการคัดเลือกผู้แทนฝ่ายแรงงานเข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมให้เป็นองค์การอิสระ
“ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากการปฏิรูปตรงนี้ชัดเจนมาก เพราะเวลาปฏิรูปเป็นองค์การมหาชนแรงงานจะเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารระบบประกันสังคมให้ครอบคลุม เนื่องจากกระบวนการต้องเปิดเผยทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน มีการออกแบบกระบวนการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เป็นประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง” นายบัณฑิตย์ กล่าว
นายกอบ เสือพยัคฆ์ สำนักงานประกันสังคม จังหวัดน่าน กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมควรเป็นองค์กรอิสระแต่ยังคงความเป็นสำนักงานประกันสังคมเอาไว้ คือเป็นองค์การมหาชนในกระทรวงแรงงาน โดยจะต้องมีสมัชชาที่มาจากการเลือกตั้งของนายจ้างและผู้ประกันตนจังหวัดละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกคณะกรรมการทุกคณะ และสรรหาเลขาธิการ เพื่อแก้ไของค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ คุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการอุทธรณ์ โดยจะทำอย่างไรให้กฎหมายออกมาเป็นรูปธรรม เพราะหากไม่มีสมัชชาที่เข้าร่วมสำนักงานประกันสังคมการเสนอร่างกฎหมายก็จะไม่สามารถผ่านสภาได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สุกงอม ควรรีบดำเนินการผลักดันให้เร็วที่สุด
ดร.อารักษ์ พรหมณี ผู้อำนวยการกองทะเบียนและประมวลผลสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม ควรรีบปรับปรุงให้เป็นองค์อิสระ เนื่องจากสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือตัวเมือง การดำเนินชีวิตก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามกระแส ซึ่งการเป็นผู้ประกันตนนั้นมีส่วนร่วมของไตรภาคีเข้ามาคือการให้ความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนร่วมในกองทุนประกันสังคม นอกจากนั้นในเรื่องของอำนาจก็ถูกผูกขาดในการเข้ามา โดยจะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง โดยในเรื่องของไตรภาคีควรปรับปรุงเป็นพหุภาคี ในเรื่องการดูแลให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นอิสระ มีความชอบธรรม มีความยั่งยืน การปฏิรูปแล้วควรได้รับความเป็นอิสระ
“การปฏิรูปควรปฏิรูปอะไร ต้องดูที่โครงสร้างการเข้าสู่อำนาจ จะทำอย่างไรให้เข้าสู่อำนาจ การปฏิรูปเรื่องการคุ้มครอง กรปฏิรูปของภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การเข้าสู่อำนาจ การบริหารจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ จะปฏิรูปการบริหารความรับผิดชอบโดยสิ่งใด เช่นระบบประโยชน์ทดแทน ต้องก้าวข้ามคำว่าแรงงาน ซึ่งต้องได้รับสิทธิ์ความคุ้มครอง ปฏิรูปโครงสร้างการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากภาคแรงงาน” ดร.อารักษ์ กล่าว
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ อดีตผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในคณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมควรแก้ไขหลักเกณฑ์การส่งเงินสมทบทุนในกรณีที่ผู้ประกันตนสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเพื่อขยายสิทธิประโยชน์และระยะเวลาที่จะได้รับสิทธิตามบทบัญญัติเมื่อสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ซึ่งฐานค่าจ้างของมาตรา 33 สำหรับการคำนวณเงินสมทบ ไม่กำหนดอัตราสูงสุด ขึ้นอยู่กับฐานค่าจ้างแต่ละคน โดยรัฐจะต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ประกันตน ต้องไม่อยู่ภายใต้ระบบบริหารราชการแผ่นดิน อยากให้ปรับและมีอิสระในการบริหารการลงทุนและมีอาชีพเสริมเข้ามาช่วยตรงนี้ด้วย
นายมนัส โกศล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแรงงาน รองนายกรัฐมนตรี ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี กล่าวว่า ตนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมมาโดยตลอด โดยมีการเสนอร่าง พรบ. ประกันสังคม ฉบับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าสู่ที่ประชุมสภาเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพกาลปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม โดยมีการคัดเลือกตามสัดส่วนขององค์กร ซึ่งคุณสมบัติของคณะกรรมการประกันสังคมต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่หรือราชการของรัฐและไม่มีสัญญาจ้างกับบริษัทที่ไม่เข้าร่วมเป็นผู้ประกันตน