สสส.หนุน 17 หมู่บ้าน ต.ฝายกวาง จ.พะเยา ผลิตปุ๋ยหมัก สูตรแม่โจ้ 1
เกษตรกร 17 หมู่บ้าน ต.ฝายกวาง จ.พะเยา นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหมักสูตรแม่โจ้ 1 ลดโลกร้อนจากการเผาฝางข้าว ซังข้าวโพด และยังช่วยเทศบาลลดปัญหาขยะได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับเทศบาลตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จัดงานแข่งขันปลูกผักจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร หนึ่งในกิจกรรมโครงการลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเผาฟางข้าว หรือซังข้าวโพดด้วยวิธีการผลิตปุ๋ยหมักใช้ในครัวเรือน สนับสนุนโดยแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ให้ประชาชน 17 หมู่บ้าน ในตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักใช้ในการเกษตร ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
จากโครงการประกวดปลูกผักจากปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรครั้งนี้ “หมู่บ้านศรีวิไล” ตำบลฝายกวาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ได้รับรางวัลชนะเลิศ นายขวัญชัย ไกลถิ่น ตัวแทนหมู่บ้านศรีวิไล กล่าวว่า การทำปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยใช้กากถั่วแดง ย่อยสลายง่าย จากนั้นนำไปผสมกับมูลสัตว์ ทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน 15 วัน จนได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากเศษวัสดุเหลือใช้ โดยตลอดขั้นตอนการผลิตไม่ได้ใช้เครื่องจักร แต่ใช้แรงงานคนแทน ซึ่งทางกลุ่มสามารถผลิตปุ๋ยได้กว่า 2 พันกิโลกรัม ผลิตขายสดได้กิโลกรัมละ 2 บาท และหากนำไปอัดเม็ดจะขายได้ถึงกระสอบละ 290 บาท
ขณะที่นายภุชงค์ มหาวงศนันท์ ผู้รับผิดชอบโครงการลดผลกระทบสุขภาพจากการเผาฟางข้าวหรือซังข้าวโพดฯ กล่าวถึงการเชิญชวนเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในชุมชนว่า ชุมชนฝายกวาง เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ปลูกยางพารา ถั่วแดง ข้าว ข้าวโพด ขณะเดียวกันเกิดปัญหาขยะจากวัดดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีการเผาฟางข้าว ข้าวโพด จนเกิดมลภาวะ ทางเทศบาลตำบลฝายกวางจึงร่วมกับ สสส. ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำโครงการนี้ เพื่อแก้ปัญหาขยะ นำเอาวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ย เบื้องต้นสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์นำไปใช้ในครัวเรือน และแบ่งปันในกันหมู่บ้าน
จุดเริ่มต้นของโครงการฯ นี้ นายภุชงค์ กล่าวว่า จากการพาชาวบ้านไปดูงาน วิธีผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง สูตรแม่โจ้ 1 แบบกองกลางแจ้ง ไม่พลิกกอง เมื่อกลับมาก็ให้ชาวบ้าน 17 หมู่บ้าน ทำปุ๋ยใช้ในไร่นาของตัวเอง สูตร 1: 3 คือ มูลวัว (หรือสัตว์อื่นที่เลี้ยงกันอยู่แล้ว) 1 ส่วน ผสมกับเศษวัสดุ เช่น ฟางข้าว วังข้าวโพด หรือเปลือกถั่วแดง 3 ส่วน คลุกเคล้าเข้ากับความชื้นให้พอดีพอเหมาะ จากนั้นไม่ต้องกลับ รดน้ำ 3 วันครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน
“ปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกแทบไม่มีต้นทุน ผลที่ได้ชาวบ้านต่างยอมรับว่า ดีกว่าใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ดินดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลผลิตก็ดีขึ้น เก็บเกี่ยวง่ายไม่ต้องจ้างแรงงาน ขณะเดียวกัน เทศบาลก็ได้ประโยชน์ เพราะปริมาณขยะลดน้อยลงมาก ”
สำหรับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษพืชวิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกลับกอง และไม่ต้องเติมอากาศนี้ มีหลักการทำงาน วัตถุดิบมีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์เท่านั้น
วิธีการทำก็คือ นำเศษพืช 3 ส่วน กับมูลสัตว์ 1 ส่วน โดยปริมาตร ผสมคลุกเคล้ารดน้ำให้มีความชื้น แล้วขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมให้มีความสูง 1.50 เมตร ส่วนความยาวกองนั้นมีได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์ที่มี กองทิ้งไว้ 30-60 วัน (ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของการย่อยสลายของเศษพืช) โดยมีเพียงการรักษาความชื้นภายนอกและภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสม หลังจากดูแลความชื้นครบวันแล้วก็ทิ้งไว้ให้แห้ง เสร็จแล้วนำไปใช้ได้
อย่างไรก็ตาม ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีใหม่นี้ เหมาะที่จะทำในนาข้าว ภายหลังเก็บเกี่ยวข้าว เพราะจะมีฟางข้าวเหลืออยู่ในนาข้าว เกษตรกรควรเลือกที่จะขึ้นกองปุ๋ยหลายจุด เพื่อหลีกเลี่ยงการขนฟางข้าวไกลและไม่ควรไกลจากแหล่งน้ำ นอกจากนี้ เศษใบไม้เศษหญ้าภายในหน่วยงานก็เหมาะที่จะมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วย เพราะสามารถขึ้นกองได้หลายจุดภายในหน่วยงาน ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเพื่อตกแต่งภูมิทัศน์ของหน่วยงาน ได้อีกทางหนึ่ง