ผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
คณะกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไฟเขียวอนุมัติงบฯกว่า 36 ล้าน ให้สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มธ.และจุฬาฯ ดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยปชช.จากมลพิษอุตสาหกรรมที่สำคัญในพื้นที่ จ. ระยอง
วันนี้ (22 เม.ย.) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารศาสนสถาน กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2553 โดยมี นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง พ.ศ. 2553-2556 (ฉบับทบทวน) และเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม ในการอนุมัติจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนจากมลพิษอุตสาหกรรมที่สำคัญในพื้นที่ จ. ระยอง รวมวงเงินทั้งสิ้น 36.14 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี (1 มิถุนายน 2553 – 31 พฤษภาคม 2555) และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ไปพิจารณาเรื่อง พื้นที่ศึกษาของทั้ง 3 โครงการ ให้สอดคล้องกันในกรณีที่มีงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมพิจารณาอนุมัติจัดสรรเงินต่อไป
ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 23 (4) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดไว้ว่า “เป็นเงินช่วยเหลือและอุดหนุนกิจการใด ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะกรรมการกองทุนเห็นสมควร และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ” และระเบียบคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อมว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขอจัดสรรและขอกู้ยืมเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2552 ข้อ 16 (1) ที่กำหนดไว้ว่า ”คณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม จะให้การสนับสนุนในแต่ละโครงการไม่เกินห้าล้านบาท กรณีที่คณะกรรมการฯ จะให้การสนับสนุนโครงการใดเกินกว่าห้าล้านบาท ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน”
และให้ยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ และให้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง พ.ศ. 2553-2556 จำนวน 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการกำกับการดูแลการแก้ไขปัญหามลพิษในเขตควบคุมมลพิษจังหวัดระยองและพื้นที่ใกล้เคียง และคณะอนุกรรมการพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่จังหวัดระยอง
2. ที่ประชุม เห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2552 ที่เห็นชอบในหลักการร่างคำสั่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 2 คณะ พร้อมทั้งให้ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 10 คณะ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ ตรวจสอบและปรับปรุงถ้อยคำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งให้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้ง 10 คณะ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราว
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำคำสั่งแต่งตั้งและเสนอประธานกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาลงนามต่อไป
3. ที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา และพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช บรรจุไว้ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการดังนี้ 1) ประสานงานกับสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อดำเนินการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะระ เกาะพระทอง จ.พังงา และพื้นที่ชุ่มน้ำเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช เป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ” ต่อไป 2) ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ พื้นที่ชุ่มน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจแก่ประชาชนในพื้นที่ 3) เร่งรัดการประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญเร่งด่วนสมควรได้รับการเสนอเป็นแรมซาร์ไซต์เพิ่มเติมที่เหลืออีก 2 แห่ง
4. ที่ประชุมเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเร่งรัดขยายทางสายประธานให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 4 สายชุมพร-ระนอง ของกรมทางหลวง ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และโครงการร่วมกับเอกชนด้านคมนาคม ในการประชุมครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 โดยให้กรมทางหลวงนำความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป
5. ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดมาตรฐานค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด และมอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนาม รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกำหนดวิธีการตรวจวัดค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัดโดยอิงมาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงนาม เพื่อใช้เป็นเกณฑ์การตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป