ร่างปฏิญญาหัวหินของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
ครม.รับทราบหลักการร่างปฏิญญาหัวหินของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 2553 ประเทศภาคีสมาชิกแสดงความมุ่งมั่นร่วมมือเพื่อให้การใช้น้ำ-ทรัพยากร เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกประเทศริมฝั่งน้ำ
วันนี้ (30 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีรับทราบหลักการร่างปฏิญญาหัวหินของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ปฏิญญาหัวหินของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มุ่งเน้นการแสดงความมุ่งมั่นซึ่งประเทศภาคีสมาชิกจะร่วมมือกันต่อไป เพื่อให้การใช้น้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกประเทศริมฝั่งน้ำ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. การรับรองความสำเร็จของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งมีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติ ในนามคณะกรรมการแม่น้ำโขงและคณะกรรมการแม่น้ำโขงชั่วคราว มาสู่องค์กรลุ่มน้ำอิสระระหว่างรัฐบาล ที่ใช้ความรู้เป็นฐาน ซึ่งประเทศภาคีสมาชิกมีระดับความเป็นเจ้าขององค์กรมากขึ้น
2. โอกาสและความท้าทายของภูมิภาค เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความกดดันของการพัฒนา รวมทั้งการขยายตัวทางประชากรศาสตร์และเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศภาคีสมาชิกจะต้องร่วมมือกันต่อไปเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง
3. ประเภทภาคีสมาชิกพึงให้การยอมรับเป้าหมายในวิสัยทัศน์ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และใช้วิธีการปรึกษาหารือกันในการดำเนินการร่วมกัน
4. ประเทศภาคีสมาชิก มีความคาดหวังว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพึงมุ่งเน้นดำเนินงานตามลำดับความสำคัญของการพัฒนาด้านต่าง ๆ จำนวน 9 ด้าน ได้แก่ 1) แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำ 2) การคุ้มครองประชาชนจากความเสี่ยงของน้ำท่วม 3) การเดินเรือระหว่างประเทศและการค้า 4) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5) มาตรการปรับปรุงคุณภาพน้ำและการติดตามผล 6) การใช้น้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ความหลากหลายของ สิ่งมีชีวิตในลำน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และป่าไม้ 7) โอกาสและความท้าทายในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำ และ โครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำ 8) ระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรน้ำ 9) การขยายความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาและหุ้นส่วนการพัฒนา
5. ประเทศภาคีสมาชิกให้คำมั่นทางการเมืองระดับสูง เพื่ออนุวัตการดำเนินงานตามความตกลงเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน การให้คำมั่นต่อวิสัยทัศน์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินโดยการสนับสนุนจากประเทศภาคีสมาชิกภายในปี 2573 และกำหนดให้มีการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างทุก 4 ปี โดยประเทศภาคีสมาชิกจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เรียงตามลำดับตัวอักษร
ทั้งนี้ ปฏิญญาหัวหินของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 2553 (MRC Hua Hin Declaration, 2010) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายและการเมืองที่มิได้มีการลงนาม และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ขณะนี้ร่างปฏิญญาฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องแล้ว