นักวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฎการณ์ภัยพิบัติเรียงแถวถล่มโลก
รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ชมเปาะความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว หลังเกิดสึนามิของคนไทยดีขึ้นมาก แต่การเตรียมพร้อมยังน้อย แนะควรใช้วิทยาศาสตร์ทำความเข้าใจกับภัยธรรมชาติให้มากขึ้น
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) จัดงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเยาวชน ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “รวมพลังต้นกล้าวิทย์ สร้างแนวคิดแห่งปัญญา” ที่ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ ไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร โดยมีการเสวนาพิเศษ เรื่อง “หลากมุมมองนักวิทยาศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม และภัยธรรมชาติ กับชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน” เพื่อให้นิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้รับความรู้การเปลี่ยนแปลงและภัยธรรมชาติ
ดร.เครือวัลย์ จันทร์แก้ว อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหว ว่า จากรายงานการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลก พบว่า ครั้งใหญ่ที่สุดเกิดที่ประเทศชิลี ในปี ค.ศ 1960 (พ.ศ.2503) ขนาด 9.5 ริกเตอร์ ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวและเกิดสึนามิครั้งร้ายแรงในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ขนาด 9.1 ริกเตอร์ ถือเป็นอันดับที่ 2 เกิดมาจากแนวเปลือกโลกที่มีรอยแตกยาวนับพันกิโลเมตรบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเกิดจากการแตกของแนวเปลือกโลก เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งทั้งเล็กและใหญ่ ขณะที่การเกิดรุนแรงเช่นปี พ.ศ. 2547 นั้น พบไม่บ่อยนัก หรือแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย
"ตามหลักฐานการศึกษานักธรณีวิทยา พบว่า ระยะเวลาการบีบอัด จนเกิดพลังแผ่นดินไหวได้ต้องใช้ระยะเวลากว่า 600 ปี จึงจะเกิดซ้ำรอยที่บริเวณเดิม อีกทั้งข้อมูลรายงานจากนักวิจัยประเทศไอร์แลนด์เหนือ ศึกษาว่า จะเกิดโอกาสล็อคของแผ่นเปลือกโลก และจะเกิดสึนามิในอนาคตอันใกล้บริเวณประเทศอินโดนีเซีย จนทำให้บริเวณชายฝั่งได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง โดยจะเกิดผลกระทบต่อ 6 จังหวัดประเทศไทย ในฝั่งอันดามันด้วยนั้น ทิศทางการพัดของสึนามิจะไม่กระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากทิศทางคลื่นซัดเข้าสู่ไทยยังมีเกาะสุมาตราบังไว้ ทำให้การพัดเข้ามาและได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งนี้มีโอกาสน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย"
ดร.เครือวัลย์ กล่าวอีกว่า การเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ จะเกิดผลกระทบมากมายมหาศาลต้องมีขนาดของแผ่นไหวมากกว่า 7 ริกเตอร์ และตำแหน่งจุดศูนย์กลางต้องเกิดขึ้นในบริเวณที่ใกล้มาก บริเวณที่จะเกิดแผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียนั้น ยังห่างไกลจากประเทศไทย การพัดเข้ามาของคลื่นก็ยังถูกบังจากพื้นที่อื่นโดยรอบ ทั้งนี้ จากการศึกษาของตะกอนสึนามิที่เกิดขึ้นที่เกาะพระทอง จังหวัดพังงา บอกว่า เฉลี่ยแล้วการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในบริเวณใกล้เคียงประมาณ 550 ปี ต่อครั้ง ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ เชื่อว่าไม่เกิดอย่างแน่นอน หรือแม้ว่าจะเกิดขึ้น ประเทศไทยก็ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง
ด้านรศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวถึง 14 ครั้ง และมีขนาดมากกว่า 5 ริกเตอร์ 8 ครั้ง แต่เกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเทียบเท่าแผ่นดินไหวที่ประเทศอื่น อย่าง จีน เฮติ และชิลี
“ถ้าเราใช้ความรู้สึก เราจะไม่รู้สึกว่าเสียหายเลย เพราะไม่มีผู้ใดเสียชีวิต จะมีครั้งร้ายแรงสุด ก็คือ สึนามิที่ เกิดขึ้นกับ 6 จังหวัดในภาคใต้ของไทย เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ ทำให้ต้องเรากลับมานั่งศึกษาเรื่องการเกิดแผ่นดินไหว และหาวิธีการป้องกัน” รศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว และว่า หากเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เราจะรู้ว่ามันเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เกิดจากรอยเลื่อนเล็กๆที่เปลือกโลกเกิดการแยกตัว ต้องอาศัยเวลาสะสมพลังงานโดยเฉลี่ยแล้ว 600-1400 ปี กว่าจะเกิดแผ่นดินไหวสักลูกหนึ่ง อย่างเช่นที่เคย เกิดขึ้นที่โกเบ ขนาด 7.2 ริกเตอร์ ในช่วงเวลา 10 วินาที ต้องรอเวลาเป็นพันๆ ปี จึงจะเกิดพลังงานรุนแรงมหาศาล ดังนั้นการสะสมพลังงานของแต่ละรอยเลื่อนนั้น สภาพภูมิศาสตร์ก็มีส่วนเป็นสำคัญ เช่น อยู่ในบริเวณภูเขาสูง รอยเลื่อนแม่จันทร์ จะสะสมพลังงานเร็ว กว่า รอยเลื่อนที่ระนอง จะมีการสะสมพลังงานช้า เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวด้วยว่า หลังเกิดเหตุการ์สึนามิความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวดีขึ้นมาก แต่การเตรียมพร้อมการรับมือยังน้อยอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกปี พบเห็นอยู่เรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติทุกชนิดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ โดยไม่ทันตั้งตัว ดังนั้น เราต้องใช้วิทยาศาสตร์ในการทำความเข้าใจกับภัยธรรมชาติให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อช่วยป้องกันภัยที่จะเกิดในอนาคต