“ปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม” พลิกโฉมเมืองเชียงใหม่ ภายใน 99 วัน
ภาคประชาสังคม เครือข่ายนักวิชาการ ภาคเอกชน จับมือเทศบาลนครเชียงใหม่ เนรมิตต้นแบบเมืองน่าอยู่ครั้งแรกของเมืองไทย หลังลงพื้นที่สำรวจกว่า 1 ปี พบ “ขยะ น้ำเสีย และเกษตรอินทรีย์” ปัญหาใหญ่เมืองเชียงใหม่
นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้จัดการโครงการปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ของ สสส. กล่าวถึงการเชิญชวนคนในเชียงใหม่ให้เข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่าน 99 วันของปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยมในครั้งนี้ ว่า จากการดำเนินการรวบรวมข้อมูลผ่านกระบวนการตรวจสอบสุขภาพเมือง พบว่า ปัจจุบัน เชียงใหม่ กำลังประสบปัญหา 3 ประการ ประกอบด้วย ปัญหาขยะล้นเมือง โดยถือเป็นเมืองที่มีปริมาณขยะเฉลี่ยต่อคนต่อวันมากที่สุดในประเทศไทย มีปริมาณขยะสูงถึง 320 ตันต่อวัน และใช้งบประมาณในการจัดการจำนวนมากกว่าสองร้อยล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังพบปัญหาน้ำเสีย ในบางจุดคุณภาพน้ำไม่สามารถแม้แต่ใช้ลดน้ำต้นไม้ได้ และปัญหาสุดท้ายคือ ปัญหาด้านเกษตรอินทรีย์ ที่เชียงใหม่จะต้องเร่งจัดการปัญหาดังกล่าว เนื่องจากพบว่า เกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ มีอัตราการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรสูงกว่าร้อยละ 80 อันนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของคนและสิ่งแวดล้อมอย่างสูง ซึ่งทั้ง 3 วิกฤติดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้เป็นประเด็นหลักในรณรงค์ครั้งนี้
ขณะที่เทศบาลนครเชียงใหม่ นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางเทศบาลยังมีแผนที่จะจัดทำโครงการความริเริ่มและนวัตกรรมเพิ่มเติมที่ได้แนวความคิดมาจากการพูดคุยร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการและปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม ในสามเรื่องหลักคือ การจัดทำวิสาหกิจผลิตปุ๋ยหมักจากใบไม้และขยะโดยใช้เทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การจัดทำบึงประดิษฐ์เพื่อบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติในคลองแม่ข่า การจัดทำโครงการป้ายรณรงค์แบบธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนการติดตั้งป้ายโฆษณาขนาดใหญ่โดยในปัจจุบันได้ดำเนินการปลดป้ายจำนวนมากริมคูเมือง ลงแล้ว และจะดำเนินการเป็นมาตรการของเทศบาลในการห้ามติดตั้งป้ายโฆษณาริมคูเมืองตลอดไป
ส่วนการจัดการกับปัญหาน้ำเสียนั้น รศ.ดร. วสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการแก้ปัญหาโดยรณรงค์ให้ครัวเรือน ร้านค้า หันมาติดตั้งถังดักไขมัน ที่มีทางเลือกให้ตามสภาพเศรษฐกิจครัวเรือน หากใครที่มีงบประมาณจำกัด เราจะจัดอบรมการทำถึงดักไขมันด้วยตัวเอง และสามารถนำไปใช้จริงที่บ้านได้ โดยเสียแค่ค่าวัสดุราคาเริ่มต้นเพียง 700 บาท หรือหากใครที่พอมีกำลังทรัพย์ เราก็ได้ติดต่อแบรนด์ที่ได้มาตรฐานไว้คอยบริการตามความต้องการ โดยขอให้จำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปพร้อมบริการติดตั้งโดยสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ เพื่อความสะดวกสูงสุดในความร่วมมือครั้งนี้ พร้อมจัดทีม Call center 086-429-6647-9 ไว้คอยให้ข้อมูลเบื้องต้น พร้อมสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงด้วย ส่วนในองค์กรที่มีการติดตั้งบ่อดักไขมันอยู่แล้ว เราก็จะรณรงค์ให้ตรวจสอบประสิทธิภาพบ่อ พร้อมจัดการให้ปรับเปลี่ยนหากพบว่า บ่อดังกล่าวเริ่มมีสัญญาณด้านคุณภาพที่ลดลง
นอกจากนี้ คณะทำงานได้นำแนวคิด “บึงประดิษฐ์” (Constructed Wet Land) ที่ได้นำไปใช้บำบัดน้ำแก่สถานที่สำคัญๆ ต่างๆ ทั่วโลก มาทดลองใช้ปรับปรุงบริเวณคลองแม่ข่า โดยอาศัยหลักการของระบบนิเวศน์มาบำบัดน้ำเสีย ใช้พันธุ์ไม้เพื่อดูดซับสารเคมี มาแทนการก่อสร้างโรงบำบัดที่ใช้งบประมาณสูงกว่าหลายเท่าตัวเป็นสิ่งทดแทน ตลอดจนการจัดกิจกรรม “นักสืบสายน้ำ” เพื่อตรวจสอบสภาพน้ำ พร้อมรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ชุมชนริมน้ำร่วมแก้ปัญหาสภาพน้ำ โดยใช้สารชีวภาพ EM เทลงในน้ำ เพื่อเพิ่มการย่อยสลายอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์นั้น อาจารย์ชมชวน บุญระหงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน ผู้ขับเคลื่อนเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างยาวนานในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลและแนวความคิดอันนำสู่แผนการส่งเสริมระบบเกษตรอินทรีย์ในช่วงปฏิบัติการ โดยจะเน้นการดำเนินการในสามส่วนประสานกันคือ หนึ่ง การพัฒนากลไกตลาดอินทรีย์ผ่านเครือข่ายผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีอยู่แล้วในพื้นที่เช่น ร้านค้า GREEN SHOP ร้านอาหารอินทรีย์ และ ตลาดนัดอินทรีย์ในโรงเรียน เพื่อเพิ่มช่องทางให้กับผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น สอง การพัฒนาเครือข่ายผู้บริโภคสีเขียวในพื้นที่เพื่อเพิ่มฐานสมาชิกให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับกลุ่มสมาชิกเช่นกิจกรรมเยี่ยมชมฟาร์มเกษตรอินทรีย์ และ สาม การพัฒนาเครือข่ายและเพิ่มปริมาณเกษตรกรอินทรีย์
"เรามองการแก้ปัญหาแบบเป็นระบบวงจรเชื่อมโยงกันอย่างยั่งยืน เริ่มจากผู้ผลิต ระบบตลาด และผู้บริโภค โดยทางเทศบาลจะสนับสนุนปุ๋ยหมักที่ได้จากใบไม้และขยะ มาเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเกษตรกรอินทรีย์ให้เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นต่อไป" อาจารย์ชมชวน กล่าว
ทั้งนี้ ปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยมได้สร้างสรรค์โครงการทางจักรยานขึ้นบริเวณถนนเจริญประเทศ มีชมรมจักรยานวันอาทิตย์ เชียงใหม่ รณรงค์ให้ชาวเชียงใหม่หันมาขี่จักรยานแทนที่ของการขับรถยนต์ ผู้ที่ขี่จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น ส่วนลดจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ, รับบริการซ่อมฟรีจากคลินิกจักรยาน และมีแผนที่จะดำเนินการร่วมกับเทศบาลและภาคเอกชนในการติดตั้งจุดจอดจักรยานเพิ่มเติมให้ทั่วเมืองเชียงใหม่ โครงการดังกล่าวจะทำควบคู่ไปกับปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องเป็นถนนกึ่งคนเดินบริเวณถนนเจริญประเทศ มีโรงเรียนขนาดใหญ่จำนวนมากและมีปัญหาจราจรคับคั่งโดยจะทดลองดำเนินการทุกวันพุธในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งการจัดกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ให้เป็นวันขี่จักรยานชมเมือง โดยจะขอความร่วมมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดเส้นทางท่องเที่ยวชมเมืองเชียงใหม่ อาทิ วัด แหล่งธรรมชาติ และแหล่งร่วมศิลปะ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากและคุ้นเคยกับการขี่จักรยานอีกทางหนึ่ง