พลังงานเพื่อชุมชน “หมู่บ้านกอข่อย” อวดโฉมไบโอแก๊สจากมูลไก่
เจ้าของฟาร์มห้วยน้ำริน จ.ลำพูน ตั้งเป้าโครงการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวลจากมูลไก่ในชุมชนให้ครบ 247 ครัวเรือน พร้อมเสนอทางออกการแก่งแย่งพืชพลังงาน
เมื่อเร็วๆนี้ ในการเสวนาเรื่อง “พลังงานเพื่อชุมชน เส้นทางอนุรักษ์ทรัพยากร" นายอนุชา อนันตศานต์ ผู้อำนวยการกลุ่มดำเนินการและรักษา กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวถึงการจัดหาพลังงานทดแทนเพื่อนำมาผลิตพลังงานในประเทศ ว่า การเดินเสาไฟฟ้าเข้าไปในชุมชน ต้องใช้เงินจำนวนมากในการติดตั้ง สิ้นเปลืองทรัพยากรและอาจต้องบุกรุกผืนป่าธรรมชาติหรือบุกรุกที่ดินทำกินในชุมชน ขณะที่การจัดตั้งโครงการไฟฟ้าระดับหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่ดีและได้ประโยชน์ ให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าใช้เอง เน้นการสร้างพลังงานจากทรัพยากรที่มีอยู่ และช่วยกันรักษาดูแลให้ยั่งยืน
“เรามีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในชุมชน เพื่อให้ชุมชนที่ห่างไกลหรือชุมชนท้องถิ่นสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง จากพลังงานน้ำ ลม ชีวมวล ซึ่งมีอยู่จำนวนมากแต่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า ขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขนาดเล็กในชุมชน ใช้เครื่องจักรที่ผลิตในประเทศ ราคาถูก สามารถผลิตพลังงานได้จริง เน้นแรงงานจากชาวบ้าน ทำให้มีความรู้สึกความเป็นเจ้าของร่วมกัน จะส่งผลให้ชาวบ้านจะสามารถรู้ว่าควรใช้พลังงานได้ในปริมาณเท่าไร และมีการจัดสรร แบ่งปันพลังงานในชุมชนเพื่อได้ใช้อย่างเท่าเทียมกัน”
สำหรับบ้านแม่กลางหลวง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีไฟฟ้าใช้เองเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากการร่วมกันสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กของชาวบ้าน แต่เดิมนั้นในพื้นที่ดังกล่าวเป็นดอยสูง ไม่มีถนนตัดผ่าน ปกคลุมไปด้วยผืนป่าธรรมชาติ ทำให้ยากแก่การเข้าถึงไฟฟ้าจากภาครัฐ อีกทั้งชาวบ้านไม่ต้องการให้มีการบุกรุกทำลาย เพราะชาวบ้านถือว่าต้นไม้แต่ละต้น เป็นสิ่งมีค่า เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนเป็นเจ้าของ นายสมศักดิ์ คีรีภูมิทอง ชาวบ้านปกาเกอะญอ นักธุรกิจเจ้าของโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบ้านแม่กลางหลวง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า ช่วงแรกการเข้ามาของไฟฟ้า ชาวบ้านจะมีการแบ่งเป็นสองฝ่าย ชาวบ้านจะกังวลเรื่องวิถีชีวิตเปลี่ยนไป และเพิ่มรายจ่ายแก่คนในครอบครัว
“แต่ภายหลังเมื่อมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในชุมชน ที่ชุมชนสามารถทำได้เอง สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้อย่างพอเพียง มีแสงสว่าง และสามารถเกิดการเรียนรู้ชาวบ้านเกิดความรักและหวงแหนพลังงาน รักษาป่า ที่เป็นทั้งแหล่งต้นน้ำ และแหล่งพลังงาน เพื่อใช้ในอนาคต นอกจากนั้นแล้ว ยังเป็นการสร้างงานในแก่คนในชุมชน สร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ และแหล่งเรียนรู้ต้นน้ำ เพื่อให้คนเมืองที่เข้ามาสามารถนำวิธีการต่างๆ กลับไปใช้เพื่อรักษาพลังงานในประเทศได้อีกทางหนึ่ง”
ขณะที่นายอร่าม อุประโจง เจ้าของฟาร์มห้วยน้ำริน หมู่บ้านกอข่อย ตำบลหนองขาม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ผู้คิดค้นโครงการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวลจากมูลไก่ในชุมชน กล่าวว่า การสกัดแก๊สจากมูลไก่ เพื่อใช้เป็นแก๊สเชื้อเพลิงสำหรับการหุงต้ม เริ่มแรกโดยการทำบ่อหมักขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร แล้วนำมาหมักแก้ปัญหาลดกลิ่นในชุมชน แต่สิ่งที่เราได้คือ สามารถจุดไฟติด และหลังจากที่หมักได้ 6 เดือน มีไฟวิ่งออกมาได้ประมาณ 2 เมตร หลังจากวันนั้น เรื่องของกลิ่นเหม็น แมลง ของเสีย ก็หมดไป กลายเป็นได้พลังงานจำนวนมาก สามารถจุดไฟได้และไม่เกิดอันตราย ทำให้ปลอดภัยสำหรับการใช้งานในครัวเรือน
“ช่วงแรกของโครงการแก๊สที่ผลิตใช้ได้เพียง 17 ครัวเรือน มาเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม 2552 สามารถจ่ายแก๊สแก่ชาวบ้านได้ทั้งสิ้น 77 ครัวเรือน โดยชาวบ้านจ่ายเงินสำหรับการเดินท่อครอบครัวละ 2,000 บาท และเสียค่าบำรุงรักษาเพียงเดือนละ 20 บาท เฉลี่ยแล้วชาวบ้านจะสามารถประหยัดเงินค่าพลังงาน เดือนละ 300 บาท”
จากการวิเคราะห์การลดใช้พลังงานนำเข้าในหมู่บ้าน เจ้าของฟาร์มห้วยน้ำริน พบว่า สามารถลดแก๊ส LPG เข้าสู่ชุมชนประมาณ เกือบ 500,000 บาท ภายในระยะเวลา 1 ปี และสำหรับอนาคต เป้าหมายจะต้องให้ครบทั้งสิ้นในหมู่บ้าน 247 ครัวเรือนในหมู่บ้านกอข่อย
นายอร่าม กล่าวอีกว่า ตอนนี้ในประเทศไทย มีการเลี้ยงไก่อยู่มากถึง 30-40 ล้านตัว ที่ฟาร์มห้วยน้ำรินมีอยู่ที่ 25,000 ตัว และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 20 กิโลวัตต์ได้ เพียงพอสำหรับวันละ 11-12 ชั่วโมง ซึ่งหาก นำไก่ทั้งประเทศมาผลิตกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เมือง หรือผลิตใช้ในชุมชน จะสามารถลดพลังงานแก๊สไปได้มาก
“ ปัจจุบันเราเห็นว่ามีการแก่งแย่งพลังงาน ระหว่างพืชพลังงาน อาทิ ข้าวโพด กับมันสำปะหลัง บางกลุ่มนำเอาข้าวโพด ไปทำหัวเชื้อน้ำมัน แต่ ปศุสัตว์ บอกว่าต้องนำมาเลี้ยงสัตว์ แต่หากเราเอาข้าวโพดและมันสำปะหลัง มาสกัดเอาหัวเชื้อน้ำมัน และเศษข้าวโพด เราเอามาเลี้ยงสัตว์ต่อ เพื่อจะได้ให้สัตว์กินเป็นอาหารและเอามูลสัตว์เหล่านั้น ทั้ง วัว ควาย หมู ไก่ มาทำเป็นไบโอแก๊ส เหลือกากน้ำ ชีวภาพ เรานำกลับมาเป็นปุ๋ยใส่ข้าวโพด ใส่มันสำปะหลัง เพื่อช่วยลดการนำเข้า ลดพลังงานทดแทนจากต่างประเทศได้อย่างดี”