2 กระทรวงเร่งขับเคลื่อนแผนส่งเสริมพัฒนาพลังงานทดแทน
กระทรวงพลังงาน ลงนามร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม โล่งอก “ธีระ” ยืนยันต้องมีการแบ่งชัดเจนส่วนไหนใช้เป็นพืชพลังงาน หรือนำมาเป็นอาหาร
วันนี้(10 มี.ค.) เวลา 10.00 น. ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม โดยมีนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงานและนายยุพล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้บริหารสูงสุด เข้าร่วมงาน
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวถึงการนำเอาพืชเกษตรที่มีอยู่มากในประเทศ มาใช้เป็นพืชพลังงานทดแทนว่า การเลือกใช้พลังงานทดแทนอย่างอื่นนั้น สามารถติดตั้งได้เพียงเฉพาะจุด เช่น พลังงานลม ต้องอาศัยพื้นที่ที่มีแรงลมมาก พื้นที่ส่วนใหญ่จะต้องเป็นเกาะ ส่วนโซลาร์เซลล์ ต้องอาศัยพื้นที่กว้าง แดดจัด ขณะที่พลังงานน้ำ ต้องอาศัยน้ำมากและมีป่าต้นน้ำ มีน้ำตลอดปี แต่สำหรับการใช้พืชพลังงานเข้ามาช่วยนั้น จะสามารถจัดตั้งโรงงานผลิตพลังงานได้ทุกส่วนของประเทศ
“การนำพืชมาทำเป็นพลังงานทดแทน เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตร นำมาสกัดเป็นไบโอดีเซลเป็นลดต้นทุนการนำเข้าจากต่างประเทศ และสำหรับการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลนั้น จะมีระบบการรักษาความปลอดภัย มีระบบควบคุมโรงงานที่ดี เพื่อป้องกันการต่อต้านและเกิดปัญหาอื่นตามมา ซึ่งถ้าหากมีการสร้างโรงงานนั้น เชื่อว่า จะช่วยลดการขาดแคลน มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการ”
ด้านนายธีระ กล่าวว่า พืชหลักๆ ที่นำมาใช้ คือ อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และมีอยู่ทั่วไปในภาคเกษตรกรรมของไทย จะต้องมีการแบ่งอย่างชัดเจนว่าส่วนไหนจะใช้เป็นพืชพลังงาน หรือนำมาเป็นอาหาร เพื่อการเพิ่มผลผลิตของสินค้าเกษตรที่จะนำมาผลิตเป็นพืชพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตปลูกปาล์มน้ำมันและมันสำปะหลังจะให้มีผลผลิตสอดคล้องกับเป้าหมายการผลิตไบโอดีเซลและเอทานอล
“กระทรวงเกษตรฯ จะทำหน้าที่ส่งเสริมงานภาคเกษตรและอำนวยความสะดวกในการจัดสรรใช้พื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนให้เป็นรูปธรรม โดยจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ สปก.ให้ภาครัฐ และเอกชนเพื่อดำเนินการทุ่งกังหันลมสนับสนุนข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ธรณีวิทยา และปริมาณน้ำ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในความรับผิดชอบของ กรมชลประทาน เพื่อก่อสร้างและกำหนดปริมาณน้ำเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานท้ายเขื่อน และอาคารชลประทานอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปลูกพืชเพื่อผลิตชีวมวล ส่งเสริม การผลิตและใช้ประโยชน์ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานทดแทนจากของเสียฟาร์มปศุสัตว์ และกิจการด้านการเกษตรอื่น ๆ ตลอดจนสนับสนุนข้อมูลด้านปศุสัตว์ ประเภท จำนวน และสถานที่ตั้งฟาร์มปศุสัตว์ และข้อมูลกิจการด้านการเกษตร”
สำหรับรายละเอียดความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน แบ่งเป็น ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ จะมีการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 600,000 ตันต่อปี ภายในปี 2554 และเพิ่มเป็น 1.1 ล้านตัน ภายใน ปี 2565 การผลิตเอทานอล จะส่งเสริมให้ใช้มันสำปะหลัง 1.5 ล้านตันในปี 2554 และ 9 ล้านตัน ภายในปี 2565
พลังงานแสงอาทิตย์ ส่งเสริมระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์นอกเขตสายส่งไฟฟ้า ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้า 2,000 กิโลวัตต์ในปี 2565 และส่งเสริมระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
พลังงานลม มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าให้ได้ 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 โดยขอใช้พื้นที่จากทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ในการติดตามการดำเนินงานโครงการทุ่งกังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
พลังงานน้ำ เป้าหมายอยู่ที่ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานท้ายเขื่อน จำนวน 140 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565
พลังงานชีวมวล ได้แก่ ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจำนวน 3,700 เมกะวัตต์ และผลิตความร้อน 6,800 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปี 2565
และด้านพลังงานจากก๊าซชีวภาพ มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจำนวน 120 เมกะวัตต์และผลิตความร้อน 6,800 กิโลตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภายในปี 2565 โดยทางกระทรวงพลังงานจะเป็นหน่วยจัดหาเครื่องมือและดำเนินการศึกษาวิจัย