ก.พลังงานเปิดรับฟังแผนพีดีพี 2010 ครั้งสุดท้าย ชงเข้าที่ประชุมกพช.ศุกร์นี้
ยืนยัน การจัดทำแผนพลังงานในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 54,625 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น หนึ่งในนั้นมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรง 5,000 เมกะวัตต์
วันนี้ (8 มี.ค.) นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพิจารณากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เป็นประธานจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ระหว่าง 2553-2573 หรือแผนพีดีพี 2010 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภาคเอกชนมีส่วนร่วมเสนอแนะต่อแผนดังกล่าว โดยระบุว่า คณะอนุกรรมการฯ จะมีการประชุมอีกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 12 มี.ค.นี้
นายณอคุณ กล่าวว่า หลังจากคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบแผนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยการจัดทำแผนได้เลือกใช้ค่าพยากรณ์ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ค่าพยากรณ์ที่สอดคล้องความต้องการไฟฟ้าในสถานการณ์ปัจจุบันระหว่างปี 2553-2554 และหลังจากปี 2555 จะมีการใช้ค่าพยากรณ์ทางเศรษฐกิจระยะยาวกรณีฐาน ซึ่งได้มีผลการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้จัดทำ 2.คำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศที่ต้องมีกำลังการผลิตสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 และพิจารณาความเสี่ยงของการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่จะต้องมีกำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 20 และปี 2573 จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกินร้อยละ 10 และมีสัดส่วนซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านไม่เกินร้อยละ 25 และ 3.คำนึงถึงพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดและดูแลสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การจัดทำแผนพลังงานไฟฟ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า (2553-2573 ) ประเทศไทยต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 54,625 เมกะวัตต์ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มขึ้นครั้งนี้จะมาจากส่วนประกอบ คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,242 เมกะวัตต์ โครงการรับซื้อจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วม (SPP Cogeneration) 6,844 เมกะวัตต์ ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน 11,669 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานความร้อนร่วม 15,870 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5,000 เมกะวัตต์ ถ่านหิน 10,000 เมกะวัตต์
สำหรับการจัดทำแผนพีดีพี ที่บรรจุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไว้ 5 โรง ถือเป็นการบังคับให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในประเทศนั้น นายณอคุณ กล่าวว่า เรื่องศึกษาความเป็นไปได้สถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าทางคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะนี้เป็นการทำความเข้าใจกับชุมชนที่เป็นพื้นที่เป้าหมายซึ่งยังมีปัญหาความเข้าใจและไว้ใจ โดยยังมีเวลาอีก 1 ปี แต่หากคณะรัฐมนตรีมีมติออกมาเช่นใด คณะกรรมการฯจะนำมาปรับแผน PDP 2010 พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงกรณีมีการเสนอฯ ยุบสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ว่า การเตรียมความพร้อมมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งหากไม่มีหน่วยงานก็จะเหมือนไม่มีการเตรียมการใดๆ
“คณะกรรมการฯมีการประชุมถึง 6-7ครั้ง และประชุมย่อยอีกหลายครั้ง กระบวนการเริ่มมาตั้งแต่เดือนต.ค.2552 ดังนั้นการจัดทำแผน PDP 2010 ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ไม่ได้เป็นการเร่งรีบ หรือรีบร้อนแต่อย่างใด ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำแผน PDP 2010 สาระสำคัญ คือ การปรับปรุงจากแผนเดิม มีโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น” นายณอคุณ กล่าว
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวถึงแผน PDP 2010 ที่ระบุการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management:DSM ) โดยวางเป้าหมายผลประหยัดจากโครงการ DSM มีเพียงโครงการเปลี่ยนหลอดผอม T5 เท่านั้น ว่า มาจากตัวเลขที่มีความชัดเจนก่อน หลังจากนี้จะมีการทบทวนว่าจะมีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเข้ามาเพิ่มเติม