"อานันท์" ปลุกภาคอุตฯปรับตัว เริ่มต้นทำตามกม.อย่างจริงจัง
วันที่ 5 มีนาคม 2553 เวลา 19.30 น. นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการลงทุนกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” เนื่องในงานวันนักข่าว 2553 TJA55th Anniversary ณ ห้อง Bangkok Convention Center ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
นายอานันท์ กล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีมายาวนานกว่า 10 ปี ว่า ไม่ใช่แค่ 3 ปีอย่างที่เป็นข่าวดัง เริ่มตั้งแต่ประเทศไทยให้ความสนใจทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเน้นอุตสาหกรรมแบบส่งออก ซึ่งการเกิดปัญหาแต่ละครั้งรัฐบาลก็มุ่งสร้างการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ตัดถนนเพิ่มเติม จัดโซนแบ่งพื้นที่สีเขียว จัดสร้างความเข้าใจไม่ให้โรงงานตั้งใกล้ชุมชน แต่ก็ไม่ใช่แนวทางการแก้ไขที่แท้จริง โรงงานยังมีการรุกล้ำเข้าพื้นที่สีเขียว ทุกโรงงานสร้างเข้ามาใกล้ชุมชน และยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
“มีโรงงานจำนวนไม่น้อยยังละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎ มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ และทุกครั้งที่เกิดปัญหา รัฐบาลในอดีตก็ไม่ได้แก้ปัญหาขั้นพื้นฐาน จนถึงรากเหง้าของปัญหา ส่วนใหญ่เป็นเพียงการติดปลาสเตอร์ ทายาแดง เป็นการบรรเทาความทุกข์ชั่วคราวและจบไปเท่านั้น”
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการความไม่ซื่อสัตย์ ความโกงกิน ไม่มีความเข้มแข็ง ของฝ่ายนักการเมืองในรัฐบาล ละเลยปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาการลงทุน ข้าราชการและเอกชน ไม่มีความห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎร ดังนั้น ทางออกที่สำคัญ คือ การสร้างความไว้วางใจ จะเป็นจุดเปลี่ยนของการแก้ไขปัญหา นายกรัฐมนตรี นักการเมือง และข้าราชการ จะต้องกลับตัวให้ทันและมีทัศคติในการทำงานแบบใหม่ กระตือรือร้น เอาใจใส่ต่อหน้าที่ จริงจังและจริงใจในการแก้ไขปัญหา เพื่อเกิดผลงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่น่าพอใจของชุมชน
“ไม่ใช่แต่เพียงรัฐปรับตัวอย่างเดียว ภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว เริ่มต้นทำตามกฎหมายอย่างจริงใจ ไม่หลีกเลี่ยง และควรตั้งใจทำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและส่วนร่วม โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทปิโตรเคมี ควรมีมาตรการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนและจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างความเข้าใจกับชุมชนโดยที่ไม่รอหวังเพิ่งแต่ภาครัฐ ซึ่งหากสามารถสร้างความไว้วางใจให้กับชุมชนได้ปัญหามาบตาพุดก็จะจบลง เมื่อถึงวันนั้นคนไทยจะนอนตาตาหลับ และไม่เกิดปัญหาเช่นมาบตาพุดในพื้นที่ทั่วไปทั้งประเทศ”
สำหรับการจัดการมลภาวะที่เกิดขึ้น อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่จะโรงงานจะลดมลภาวะ ไม่ใช่การลดแต่เพียงการที่ให้กฎหมายมาบังคับ หรือเพราะว่ามีข้อตกลงกับเอกชน องค์กรธุรกิจ หรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ต้องมุ่งให้มลภาวะมีการลดลงไปเรื่อยๆ อีกวิธีช่วยได้ ก็คือ ระบบภาษีสิ่งแวดล้อม ที่ประเทศอื่นๆ ใช้มานานกว่า 30 ปี ใครปล่อยมลพิษ คนนั้นก็ต้องจ่ายเงิน ใครนำเครื่องจักรที่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็จะลดภาษี จุดหมายตั้งใจของเรา คือ การให้มาบตาพุดอยู่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรม ชุมชน และทุกส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้ และมีความเข้าใจ ร่วมมือ ให้เกิดความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน
“องค์กรธุรกิจ ต้องเป็นฝ่ายรุก สภาอุตสาหกรรม ต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง เพราะถ้าเอกชนไม่ช่วยเหลือ จะไม่มีทางแก้ไขได้ อย่าหวังแต่เพียงว่าเราจะมีราชการและรัฐบาลที่ดีพอที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้ คนไทยต้องเรียนรู้ ว่าทุกอย่างสามารถแก้ไขเองได้ ทุกคนต้องทำหน้าที่ และเกิดความรับผิดชอบ ต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น”
ช่วงสุดท้ายอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเป็นผู้นำทางสังคมว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้มาจากตำแหน่งและความรับผิดชอบ แต่มาจากการที่ประชาชนมีปัญหา และเป็นผู้ที่บุกเบิกแก้ปัญหา ขณะที่การเป็นผู้นำ คือ สิ่งที่คนอยากเดินตาม เพราะฉะนั้น การเป็นผู้นำที่ดีต้องเป็นคนที่พูดดี คิดดี มีความซื่อสัตย์ จริยธรรมและคุณธรรมที่ดี และต้องมีคุณวุฒิ การที่เป็นผู้นำ ไม่ใช่เรื่องการที่เป็นใหญ่ และมีนโยบายที่ดี แต่ต้องมีการปฏิบัติตามที่ตนเองพูดและคิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ประชาชนยอมรับ ต้องสะสมบารมีเป็นเวลานาน
“ถ้าจะให้แยกผู้นำทางเศรษฐกิจ และผู้นำทางสังคมนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่ต้องแยกให้ออกว่าอะไรมาก่อนหลัง ต้องมีระบบในการพัฒนารอบด้าน สุดท้ายความสำเร็จของผู้นำที่ดี คือ ประชาชนมีความเชื่อใจและไว้วางใจเพียงใด การทำงานก็ราบรื่น สังคมจะเต็มไปด้วยความสุข”