ปิดประตูให้ข้อมูลด้านเดียว กรีนพีช ออกโรงฉะสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กรีนพีช เล็งยื่นหนังสือถึงนายกฯ –รมว.พลังงาน ปิดสำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังทำงานล้มเหลว ถึงวันนี้ยังสรุปไม่ได้จะสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน แถมปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของปชช.อย่างรอบด้าน จนสร้างความแตกแยก
ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (4 มี.ค.) ว่า กรีนพีชร่วมกับชุมชนจากจังหวัดนครสวรรค์และสุราษฎร์ธานี แถลงข่าวเปิดตัวปฏิทิน “365 เหตุผลที่ไม่ควรจำนนต่อพลังงานนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นการรวบรวมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจากความผิดพลาดของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกมาบรรจุไว้
นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า รัฐบาลไทยควรเรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และทบทวนแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุดเสียใหม่ โดยนำนิวเคลียร์ออกจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2553 หรือ PDP (Power Development Plan) 2010
“รัฐบาลมองกับภาคประชาชนมองต่างกันในหลักการพื้นฐาน ระบบพลังงานแบบรวมศูนย์กับระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์ หากมองระบบรวมศูนย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างถ่านหินและนิวคลียร์ ซึ่งหากจะเลือกทางนั้นก็จะเป็นทางเลือกที่ลำบากมาก จึงจำเป็นต้องปฏิวัติระบบพลังงานของบ้านเรา ให้มีลักษณะกระจายศูนย์มากขึ้น”
นายธารา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่สามารถสรุปการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งแรกได้ เพราะมีชุมชนออกมาต่อต้าน และความยากลำบากในการเข้าไปศึกษาพื้นที่ ทำให้แผนPDP จะไม่เป็นจริง เพราะการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5 โรงสร้างความกดดันในเชิงจิตวิทยาให้กับชุมชนท้องถิ่นที่ถูกคัดเลือกให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
“โรงไฟฟ้าโรงแรกยังไม่ถูกผลักดันให้เป็นจริง ขณะที่ประชาชนยังไม่ได้รับข้อมูลรอบด้าน การเปิดให้มีการถกเถียงว่า ต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าเท่าไหร่กันแน่ ก็ยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากมองทางเลือกที่ต่างออกไป การมีระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์มากขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อีกทั้งจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่เรื่องพลังงานอีกด้วย โดยดูรายละเอียดเป็นภาคครัวเรือนและภาคอุตสหกรรม หรือแม้กระทั่งภาคบริการ ที่มีการใช้พลังงานมาก แม้กระทรวงพลังงานจะดูเรื่องนี้อยู่ แต่ก็ยังยึดติดกับกรอบเดิมๆ”ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว
สำหรับกรณีที่สำนักพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2551 ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน กำลังดำเนินการเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย และวางแผนจะประกาศสถานที่ตั้งกลางปีนี้นั้น นายธารา กล่าวว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปิดกั้นทางเลือกของการมีพลังงาน น่าจะมีสักแผนหนึ่งหรือไม่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีนิวเคลียร์และเปิดให้มีการศึกษาให้งบฯ ศึกษาพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ให้เวลาเท่ากัน แล้วมาตัดสินใจทางเลือกจะเอาอย่างไร
“พอมีสำนักพัฒนาโครงการฯ ขึ้นมากลับกลายเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น และ ประชาชนตั้งคำถามว่าจะได้อะไรจากการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คำตอบคือปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและรอบด้าน ขณะนี้ได้ข้อมูลมาว่า จะมีการต่องบประมาณผูกผันอีก 3 ปี จากที่ได้งบประมาณดำเนินการ 1.8 พันล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาสำนักพัฒนาโครงการฯ ไม่ได้ทำอะไรเลย ทำงานล้มเหลว สรุปไม่ได้จะตั้งโรงไฟฟ้าที่ไหน ถึงเวลาแล้วต้องทบทวนเรื่องการใช้งบฯของประเทศอย่างเหมาะสม โดยทางกรีนพีชและแกนนำชาวบ้านจะส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในโอกาสต่อไป เพื่อเรียกร้องให้ปิดสำนักพัฒนาโครงการฯ”
ขณะที่นายอดิศร สองเมืองสุข แกนนำชาวบ้านจากอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า แต่เดิมชาวบ้านไม่เคยขัดแย้งกัน แต่เมื่อมีการเข้าไปสำรวจพื้นที่ พอบอกว่า ไร่หนึ่งประมาณ 3-4 ล้านบาท ส่งผลให้มีความขัดแย้งระหว่างคนที่อยากจะขายที่กับคนที่ไม่ขายที่ เกิดการทะเลาะกัน พร้อมยกตัวอย่างโรงงานน้ำมันปาล์ม ขนาดไม่ใหญ่ ในตำบาลกันธุลี ที่มีควันพิษส่งผลให้น้ำฝนกินไม่ได้ จึงตั้งคำถามว่า หากมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะส่งผลร้ายขนาดไหน ขณะที่ทรัพยากรป่าพรุ ปะการังที่วางไข่ของปูปลา มีมากมาย เมื่อชาวบ้านไม่มีทรัพยากรตรงนี้จะอยู่กันอย่างไร